SCB EIC ชี้ เงิน ‘ดอลลาร์’ กำลังถูกลดบทบาทในโลก กลายเป็นอีกความเสี่ยงที่ไทยต้องรับมือ
ในยุค Trumponomics 2.0: ‘ดอลลาร์’ อาจไม่ใช่คำตอบเดียว เมื่อการคลังสหรัฐฯ สั่นคลอน ขณะที่เงินดอลลาร์กำลัง De-dollarization หลังขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนต่อโลกที่ลดลง และ Trumponomics 2.0 เร่งให้เทรนด์นี้เกิดขึ้นเร็วขึ้นอีก
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ระบุว่า แม้ว่ากฎหมาย Big Beautiful Bill Act (OBBA) ที่มีเป้าหมายในการลดภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ จะผ่านสภาสูงและสภาล่าง และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
Big Beautiful Bill Act ลดภาษีแต่เพิ่มหนี้
สำหรับ Big Beautiful Bill Act (OBBA) เป็นนโยบายหลักของ Trumponomics 2.0 ที่มุ่งเน้นการลดภาษีเงินได้ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% เป็นเวลา 10 ปี จนถึงปี 2034 ซึ่งจะช่วยธุรกิจขนาดใหญ่ได้มาก
นอกจากนี้ ยังมีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย รวมถึงการลดงบประมาณสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น Food Stamp และ Medicaid ตลอดจนยกเลิกเงินจูงใจสำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลดค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแผนเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงและงบประมาณดอกเบี้ยจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นตลอด 10 ปีข้างหน้า ผลจากการลดภาษีครั้งใหญ่นี้คาดว่าจะทำให้รายได้ของรัฐลดลงประมาณ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายจะลดลงสุทธิเพียงประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสุทธิประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ยังไม่ถึง 100% ไปเป็น 127% ตามแผนล่าสุดที่ผ่านวุฒิสภา
โดยทรัมป์เชื่อว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน แต่เส้นทางข้างหน้ายังคงไม่ชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบจากภาษีตอบโต้ที่อาจทำให้การค้าโลกหดตัวและเกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า
ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก-ความผันผวนและวิกฤตความเชื่อมั่น
ดร.ฐิติมา ยังชี้ให้เห็นถึง 3 ประเด็นหลักที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก ดังนี้
ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ การประกาศนโยบายที่อาจกลับไปกลับมาหรือไม่ชัดเจน สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินโลก เราเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ ทำให้ Bond Yield สหรัฐฯ ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมาก ความผันผวนนี้ยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ด้วย
เสถียรภาพนโยบายการคลังที่น่ากังวล แม้ทรัมป์จะมุ่งมั่นที่จะ Make America Great Again แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลัง ตัวอย่างล่าสุดคือ Moody’s ที่ปรับลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ลงหนึ่งอันดับจากสูงสุดมาอยู่ที่ AAA ซึ่งเท่ากับ S&P และ Fitch ที่ปรับลดไปก่อนหน้านี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลด้านการคลังที่ไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน
ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขาดดุลคู่ (Twin Deficit) ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังขนาดใหญ่ กำลังเป็นเดิมพันว่านโยบายนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างยั่งยืน หรือนำไปสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย Bond ที่สูงขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการกู้ยืมอีกจำนวนมาก ตลาดจึงอาจต้องการ Term Premium เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตราสารหนี้สหรัฐฯ ยังคงเป็น Safe Haven ที่นักลงทุนยังคงถือครอง เนื่องจากยังไม่มีทางเลือกอื่นที่ชัดเจน แต่ในระยะกลางและยาว ตลาดอาจเริ่มมองหาช่องทางอื่นในการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ลดลง
De-dollarization ดอลลาร์อาจไม่ใช่สกุลเงินหลักอีกต่อไป
ดร.ฐิติมา กล่าวต่อว่า แนวโน้มการลดบทบาทของดอลลาร์สหรัฐ (De-dollarization) เป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจโลกที่ลดลง แต่นโยบาย Trumponomics 2.0 เร่งให้เทรนด์นี้เกิดขึ้นเร็วขึ้นอีก ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
การรวมกลุ่มเศรษฐกิจใหม่และการใช้สกุลเงินทางเลือก ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาใช้สกุลเงินของตนเองในการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนจากการใช้ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) กับบางประเทศ
นโยบายการคลังที่ใช้ Fiscal Dominance การที่สหรัฐฯ ใช้นโยบายการคลังนำเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นในตราสารหนี้สหรัฐฯ ลดลง
ความผันผวนของดอลลาร์ในระยะยาว นโยบายของทรัมป์ข้างต้นทำให้ความน่าใช้ของดอลลาร์ลดลง
คุณภาพสถาบันของสหรัฐฯ ที่ถดถอย แม้ว่าดอลลาร์จะมีความแข็งแกร่งจากการมีสถาบันที่แข็งแกร่ง แต่ดัชนีชี้วัดคุณภาพสถาบันของสหรัฐฯ ก็เริ่มลดลงในช่วงหลัง
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือ ตลาดการเงินที่มีความลึกและความกว้าง ซึ่งยังไม่มีใครสามารถแข่งขันได้ในตอนนี้ แต่ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มพัฒนาตลาดการเงินของตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนและธนาคารกลางในการกระจายความเสี่ยง
ผลกระทบต่อประเทศไทยและการเตรียมรับมือ
สำหรับประเทศไทย แนวโน้ม De-dollarization ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้มีผลกระทบ 4 ด้านที่ต้องจับตา ดังนี้
ภาคการค้า การที่เงินดอลลาร์มีความผันผวนสูง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นและไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม
ตลาดการเงินไทย Bond Yield ไทยระยะยาวมีความสัมพันธ์กับ Bond Yield สหรัฐฯ ทำให้ตลาดการเงินไทยได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของดอลลาร์ไปด้วย
การกระจายสินทรัพย์และการลงทุน นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มกระจายความเสี่ยงออกจากสินทรัพย์ดอลลาร์ ซึ่งตราสารหนี้ไทยอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและเงินบาทแข็งค่า
เงินทุนเคลื่อนย้าย ความผันผวนของค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ไม่ว่า Trumponomics 2.0 จะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ดร.ฐิติมา เน้นย้ำว่าไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยมีข้อเสนอแนะ 4 ด้าน ดังนี้
สภาพคล่อง เตรียมมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการค้าและการเก็บภาษี
กระจายความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน กระจายตลาดส่งออกและแหล่งลงทุนออกไปจากสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากไทยยังคงพึ่งพิงสหรัฐฯ สูง
ปรับปรุง Resilience ของตลาดการเงินไทย สร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดการเงินไทยเพื่อรองรับความผันผวนของดอลลาร์และเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงส่งเสริมการใช้สกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น
ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลก
ภาพ: Shutterstock AI