ถอดบทเรียน “รัฐสวัสดิการเชิงรุก” แบบสิงคโปร์ แจกคูปองเงินสดให้ประชาชนใช้จ่ายทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ไทยเรียนรู้อะไรได้บ้าง?
สิงคโปร์เปิดตัวโครงการ ‘SG60 Vouchers’ เพื่อเฉลิมฉลองเอกราช 60 ปี พร้อมมอบคูปองดิจิทัลให้ประชาชนอายุ 21 ปีขึ้นไปทุกคน แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องยื่นขอ ไม่ต้องพิสูจน์ความจน และไม่จำกัดรายได้
โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเฟสแรกรัฐบาลเริ่มแจกคูปองดิจิทัลมูลค่า 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 20,000 บาท) ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไป เปิดให้ประชาชนอายุ 21-59 ปี ลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านระบบ Singpass
คูปองดังกล่าวสามารถใช้ได้กับร้านค้าและแผงลอยกว่า 23,000 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต 8 เครือข่ายที่มีสาขารวมกว่า 400 จุด จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน โครงการนี้ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม กระทรวงการคลังสิงคโปร์เปิดเผยว่า มีผู้สูงอายุกว่า 915,000 คน หรือ 83% ของกลุ่มเป้าหมาย มาลงทะเบียนรับคูปองแล้ว
และมียอดการใช้จ่ายสะสมผ่าน ‘SG60 Vouchers’ ทะลุ 127.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 163 ล้านบาท) แบ่งเป็น 76.6 ล้านดอลลาร์ (ราว 98 ล้านบาท) ใช้ที่ร้านค้าท้องถิ่น และอีก 51 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,285 ล้านบาท) ในซูเปอร์มาร์เก็ต
ที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบโดยบังเอิญ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์เคยดำเนินโครงการคล้ายกัน เช่น CDC Vouchers ที่เน้นกระจายรายได้สู่ร้านค้าในชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีเป้าหมายสำเร็จมาแล้ว
เบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จของนโยบายรัฐสวัสดิการเชิงรุกแบบสิงคโปร์คืออะไร TODAY ชวนไปหาคำตอบในบทความนี้
รากฐานความสำเร็จ ไม่ใช่ ‘ความบังเอิญ’ แต่คือ ‘การออกแบบ’
ความสำเร็จของ ‘SG60 Vouchers’ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เป็นผลจากรากฐานที่วางไว้อย่างมั่นคงตั้งแต่โครงการก่อนหน้า เช่น Assurance Package และ CDC Vouchers ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ในช่วงโควิด-19 โดยรัฐบาลแจกคูปองดิจิทัลมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือนต่อปี ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้าในชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง
แม้ว่าในมิติหนึ่ง นโยบายเหล่านี้จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และบรรเทาความเหลื่อมล้ำ แต่ในอีกมิติ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ใช้ ‘การแจกเงิน’ เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘รัฐสามารถดูแลประชาชนได้จริง’ และใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากภาษีรายได้ การเก็บภาษีสินค้า-บริการ และกำไรจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth funds) มาคืนกลับสู่ประชาชนอย่างเป็นระบบ
ดังที่นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง พูดถึงโครงการ SG60 Vouchers เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า “เป้าหมายคือต้องการแสดงความขอบคุณประชาชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และแบ่งปันผลประโยชน์จากความเจริญก้าวหน้าที่สร้างมาด้วยกันกลับคืนให้กับประชาชน”
ข้อความนี้แม้เป็นเพียงถ้อยแถลงสั้น ๆ แต่กลับทรงพลังในเชิงจิตวิทยาอย่างมาก เพราะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของผลประโยชน์ของประเทศ และเชื่อมั่นในบทบาทของรัฐ ในฐานะ ‘ผู้แบ่งปันความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม’
นี่คือตัวอย่างของแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการเชิงรุก’ (proactive welfare state) อย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่แค่รอให้คนจนลงแล้วค่อยช่วย แต่ใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว และเพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชน
ไม่ใช่แค่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สร้างสายสัมพันธ์ระยะยาว
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางของสิงคโปร์แตกต่างจากการแจกเงินเฉพาะกิจเพื่อเยียวยาง อย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลมองว่า สวัสดิการที่ดีควรเป็นการ ‘ตอบแทน’ พลเมืองในฐานะผู้ร่วมสร้างรัฐ ไม่ใช่แค่ ‘ช่วยเหลือ’ ผู้เดือดร้อน
อีกทั้งการแจกคูปองแบบ ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ โดยไม่ใช้เกณฑ์รายได้หรือเงื่อนไขซับซ้อน ยังช่วยลดภาระเชิงระบบ เช่น การคัดกรอง ตรวจสอบ หรือรับเรื่องร้องเรียน ยังสร้าง ‘ความรู้สึกเท่าเทียม’ ว่าทุกคนล้วนได้รับการมองเห็นจากรัฐอย่างเสมอภาค
ผลลัพธ์จึงไม่ใช่แค่การกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น แต่คือการ ‘ฟื้นฟูความไว้วางใจ’ ระหว่างรัฐกับประชาชนในระยะยาวอย่างแท้จริง
บทเรียนจากรัฐสวัสดิการเชิงรุกแบบสิงคโปร์
นโยบายลักษณะนี้สะท้อนแนวคิดสำคัญว่า รัฐไม่จำเป็นต้องรอให้ประชาชนลำบากก่อน จึงค่อยยื่นมือเข้าไปช่วยในทางกลับกัน รัฐสามารถออกแบบสวัสดิการให้เป็น ‘การลงทุนทางสังคม’ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางจิตใจ และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ในคราวเดียว
เพราะรัฐสวัสดิการเชิงรุก ไม่ได้หมายถึงการแจกเงินอย่างไร้เงื่อนไข แต่คือ ความตั้งใจจริงของรัฐในการออกแบบกลไกดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งในยามวิกฤตและยามเติบโต พร้อมเชื่อมโยง ‘ความมั่นคงของประชาชน’ เข้ากับ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ อย่างแยกไม่ออก
สิ่งที่หลายประเทศอาจเรียนรู้จากสิงคโปร์ จึงไม่ใช่แค่ ‘จะแจกเงินอย่างไร’ แต่คือคำถามที่ลึกกว่านั้นว่า ‘จะแจกเงินด้วยทัศนคติแบบใด’ หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน และฟื้นฟูศรัทธาต่อรัฐ นี่คือโจทย์ที่ต้องเริ่มคิดให้ชัด ตั้งแต่ต้นทางของนโยบาย