รู้จักเสียงสัญญาณเตือนภัย- จุดสังเกตเมื่อเกิด "สึนามิ"
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลข่าวสารผ่านโซเซียล เรื่องแผ่นดินไหว บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย อาจจะก่อให้เกิดสึนามิกระทบกับประเทศไทย ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมายืนยันว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวถี่ยิบที่หมู่เกาะนิโคบาร์ จะไม่ส่งผลกระทบกับไทย ไม่ทำให้เกิดสึนามิ
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีผลกระทบ หรือ ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดสึนามิในประเทศไทย แต่วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ขอมัดรวมข้อมูล จุดสังเกต หรือ สิ่งที่จะบอกเหตุก่อนจะเกิดสึนามิ รวมไปถึงมาตรการการรับมือ การเตือนภัยสึนามิของไทย ว่ามีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร
3 สิ่งบอกเหตุสึนามิ
กรมทรัพยากรธรณี เผยว่า หนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญที่สุดของสึนามิคือ ระดับน้ำทะเลลดลงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากแรงดูดของคลื่นยักษ์ที่กำลังก่อตัว
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่กว่า 7.5 มักเป็นสาเหตุให้เกิดสึนามิ หรือคลื่นยักษ์ใต้น้ำ ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่แผ่นดินไหวใต้ทะเลทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัว ดันมวลน้ำขึ้นและดูดน้ำบางส่วนออกจากชายฝั่ง ก่อนที่มันจะก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งหากผู้คนรอจนเห็นคลื่นสูงมาถึงแล้วจึงเริ่มหนี อาจไม่ทันการณ์ เพราะคลื่นในน้ำลึกและเป็นลูกคลื่นเคลื่อนที่ออกไปทุกทิศทางก่อนเป็นคลื่นยักษ์ซัดเข้าปะทะฝั่ง
ระดับความรุนแรงของคลื่นสึนามินั้น จากเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 2547 ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงมากถึง 15 เมตร และมีระดับความเร็วคลื่นเฉลี่ย 36-45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าความเร็วเฉลี่ยสูงสุดที่มนุษย์วิ่งที่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เมื่ออยู่ในพื้นที่เขตเสี่ยงภัยสึนามิ การสังเกตป้ายเตือนภัยสึนามิและจดจำสิ่งบอกเหตุก่อนเกิดคลื่นยักษ์ไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
จุดสังเกตเมื่อมีภัยสึนามิ
- ได้รับแจ้งข่าวเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
- เห็นน้ำทะเลลดระดับลงอย่างผิดปกติ
- มองเห็นสันคลื่นเป็นกำแพง
เมื่อได้รับแจ้งและเห็นจุดสังเกตแล้วควรปฏิบัติดังนี้
- หากอยู่บริเวณชายหาดแล้วรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนของพื้นดินให้ออกจากพื้นที่ทันที และรีบไปยังพื้นที่ปลอดภัยตามเส้นทางหนีภัยสึนามิ โดยเลือกพื้นที่ที่สูงกว่าตึก 3 ชั้น
- หากอยู่บนเรือในทะเลระหว่างเกิดคลื่นสึนามิ ควรพยายามลอยเรืออยู่กลางทะเล อย่านำเรือเทียบท่าจนกว่าจะได้รับแจ้งจากทางการว่าปลอดภัยแล้ว
อนึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมในกรณีที่ต้องเผชิญเหตุสึนามิ โดยจะมีการส่งสัญญาณเตือนภัยจากหอเตือนภัยสึนามิในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะมีการแบ่งสัญญาณเสียงออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ดังนี้
M2 Tsunami Warning แผ่นดินไหวในทะเล อาจเกิดสึนามิ
- หากมีการตรวจพบแผ่นดินไหวในทะเลในระดับที่อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ หอเตือนภัยจะเปิดเสียงสัญญาณประกาศว่า “โปรดทราบ โปรดทราบ เกิดแผ่นดินไหวในทะเล อาจเกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน โปรดทราบ โปรดทราบ เกิดแผ่นดินไหวในทะเล อาจเกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน” เสียงนี้จะถูกเปิดซ้ำ ๆ เพื่อเร่งให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชายหาดรีบอพยพทันที อย่ารอการยืนยันจากใคร เพราะคลื่นสึนามิอาจมาเร็วในเวลาไม่กี่นาที
M3 Tsunami Alert แจ้งเตือนว่าขณะนี้เกิดสึนามิแล้ว
- หากระบบตรวจจับและเฝ้าระวังยืนยันว่าเกิดคลื่นสึนามิแล้ว และคลื่นกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่ง เสียงเตือนภัยจะเปลี่ยนเป็น “โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้เกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้เกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน ”ถือเป็นสัญญาณเตือนระดับวิกฤตที่ประชาชนต้องรีบอพยพหนีภัยอย่างเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้
M9 Meteorological - All Clear สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
- เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว และไม่มีคลื่นซ้ำตามมา หอเตือนภัยจะส่งเสียงประกาศว่า “โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป” เสียงนี้มีขึ้นเพื่อยืนยันว่าสามารถกลับเข้าสู่พื้นที่ได้ แต่ในช่วงเวลานั้นยังต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากการรู้จักเสียงสัญญาณเตือนภัยแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือประชาชนต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเสมอ ด้วยการจัดกระเป๋าฉุกเฉินให้พร้อม มียารักษาโรค น้ำดื่ม เอกสารสำคญ และของจำเป็นอื่นๆเพื่อให้สามารถอพยพได้ทันทีเมื่อต้องเผชิญเหตุ นอกจากนั้นแล้วยังมีจุดสังเกตและข้อปฎิบัติดังนี้
- หากสังเกตว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น หรือสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น กระสับกระส่ายหรือวิ่งหนี รวมถึงน้ำทะเลลดระดับลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ ให้ออกห่างจากชายฝั่งทะเลให้เร็วที่สุดไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร หรืออพยพขึ้นสู่ที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 15 เมตร
- หากหนีขึ้นตึกสูงให้เลือกอาคารที่มั่นคงแข็งแรงมากกว่า 4 ชั้นขึ้นไปโดยไม่ต้องรอคำสั่ง
- ศึกษาทำความเข้าใจเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยในชุมชนโดยเฉพาะป้ายเส้นทางหลบภัยจากสึนามิ (Tsunami Evacuation Route) เสียงไซเรนเตือนภัยสึนามิ และสถานที่ปลอดภัยบนที่สูง เพื่อให้สามารถหนีภัยได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญเหตุจริง
- ฝึกซ้อมการอพยพอยู่เสมอ การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยร่วมกับครอบครัวและชุมชนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยและความพร้อมในการเผชิญเหตุจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ศึกษาและวางแผนรับมือในครัวเรือน ควรวางแผนอพยพร่วมกับสมาชิกในบ้าน และกำหนดจุดนัดพบเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งให้ทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้การอพยพเป็นไปอย่างมีระบบและปลอดภัย