ศอ.บต. และ ป.ป.ส. ภาค 9 ประชุมติดตามผลการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการ 120 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมติดตามผลการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการ 120 วัน วาระพืชกระท่อมในทางที่ผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 ตำรวจภูธร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์ศรัทธาชน ศูนย์ประสานงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วม
โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในนโยบาย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายเพื่อแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมและยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้าเห็นผลเป็นรูปธรรม ร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งได้กำหนดให้ ศอ.บต. และ ป.ป.ส. ภาค 9 จัดประชุมคณะกรรมการภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการในทุกมิติระยะ 3 ปี อย่างต่อเนื่อง หากเป็นไปได้ จัดประชุมทุกเดือนในช่วง 120 วันของปฏิบัติการนี้ เพื่อรายงานความก้าวหน้าในภารกิจ
ที่ประชุมได้นำเสนอความคืบหน้า การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ปัญหาอุปสรรคระหว่างการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะ หาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อนำไปปรับใช้และดำเนินภารกิจไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ การผลักดันให้ผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม การผลักดันไม่ให้มีการค้าขายพืชกระท่อมตามถนนสายหลัก เส้นทางรอง ใกล้สถานศึกษา หน่วยงานราชการ และศาสนสถาน การบังคับใช้กฎหมาย การใช้มิติด้านศาสนาเข้ามาแก้ไขปัญหา การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ สร้างการตื่นตัวต่อปัญหาพืชกระท่อม การรณรงค์แสดงพลังอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมไปถึงระบบการบำบัด การสร้างความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับพิษภัยของกระท่อมหากนำไปใช้ในทางที่ผิดทั้งนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เน้นย้ำในที่ประชุม ให้สำรวจ และเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจน ถูกต้อง ตรงไปตรงมา เพื่อให้การดำเนินงานและแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด
สำหรับแผนปฏิบัติการ 120 วัน วาระพืชกระท่อมในทางที่ผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดำเนินการในห้วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2568 เพื่อลดปัญหาการค้า การใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด มีพื้นที่ปฏิบัติการภายใน 120 วัน ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) มีชุมชนเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 688 แห่ง การปฏิบัติการจะมีการเน้นจิตอาสาและผู้นำศาสนา ร่วมกับภาครัฐ เข้าปฏิบัติการทำหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ ตั้งเป้า ในพื้นที่ 688 หมู่บ้าน มิให้มีการจำหน่ายหรือใช้พืชกระท่อมในพื้นที่