“เกาหลีใต้” ขอขยายเวลาผ่อนผันภาษี 25% เร่งเจรจาสหรัฐ หวั่นกระทบเทคโนโลยี-เกษตร
"เกาหลีใต้" เร่งเจรจาสหรัฐ หวังขยายเวลาผ่อนผันภาษี 25% ท่ามกลางประเด็นถกเถียงร้อน ทั้งกฎหมายควบคุมบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ ข้อพิพาท Google Maps ข้อจำกัดนำเข้าเนื้อวัว และการเปิดตลาดสินค้าเกษตร
วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.02 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เริ่มต้นเจรจาการค้ากับสหรัฐตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันจัดทำข้อตกลงเพื่อยกเลิกภาษีนำเข้า แต่ล่าสุดเกาหลีใต้กำลังขอขยายเวลาผ่อนผันภาษี 25% ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
การเจรจาการค้าระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของเกาหลีใต้ มุ่งเน้นไปที่อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก เนื่องจากภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ เกาหลีใต้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในอัตราใกล้ศูนย์อยู่แล้ว
ประเด็นหลักในการเจรจาการค้า
1. บริการดิจิทัล
รัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ ยอ ฮัน-กู ระบุว่า ภาคดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดในการเจรจาภาษีครั้งนี้
รัฐบาลเกาหลีใต้มีข้อเสนอทางกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ตามคำมั่นของประธานาธิบดี อี แจ-มยอง ที่ต้องการจัดการปัญหาการผูกขาดตลาดและคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐ เอเดรียน สมิธ และเพื่อนร่วมงานอีก 42 คน ส่งจดหมายถึงคณะเจรจาการค้าของสหรัฐ แสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวคล้ายกับกฎหมาย Digital Markets Act ของสหภาพยุโรป ซึ่งเลือกปฏิบัติต่อบริษัทสหรัฐฯ ขณะที่ยกเว้นบริษัทเทคโนโลยีจีนรายใหญ่ เช่น ByteDance, Alibaba และ Temu
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กำลังพิจารณาชะลอการผลักดันกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่มุ่งควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Google, Apple, Facebook ตลอดจนบริษัทเกาหลีใต้เองอย่าง Naver และ Kakao เนื่องจากกังวลต่อผลกระทบทางการค้า นายคิม นัม-กึน ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวกับสำนักข่าว Reuters เมื่อวันจันทร์
2. Netflix และ Google Maps
รายงานของสหรัฐ เรื่องอุปสรรคทางการค้าต่างประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุถึงข้อกำหนดของเกาหลีใต้ที่ให้ผู้ให้บริการเนื้อหา เช่น Netflix ต้องจ่ายค่าบริการเครือข่าย รวมถึงการจำกัดการส่งออกข้อมูลแผนที่โดย Google และบริษัทอื่น ๆ
ทั้งนี้ในปี 2559 เกาหลีใต้เคยปฏิเสธคำขอของ Google ในการนำข้อมูลแผนที่รายละเอียดสูงไปเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์นอกประเทศ โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ขณะนี้ เกาหลีใต้จะตัดสินคำร้องใหม่ของ Google เกี่ยวกับข้อมูลแผนที่ในวันที่ 11 สิงหาคม และมีรายงานว่า Apple ก็ยื่นคำขอในลักษณะเดียวกัน
3. เนื้อวัวและแอปเปิล
รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ระบุว่า สหรัฐเรียกร้องให้เกาหลีใต้เปิดตลาดสินค้าเกษตร รถยนต์ และภาคดิจิทัลมากขึ้นในระหว่างการเจรจา
ปัจจุบันเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวที่มาจากวัวอายุมากกว่า 30 เดือน โดยอ้างปัญหาโรควัวบ้า สหรัฐยังเรียกร้องให้เปิดตลาดสินค้าการเกษตรอื่น ๆ เช่น มันฝรั่ง และแอปเปิล
อย่างไรก็ตามเกาหลีใต้มีความกังวลภายในเกี่ยวกับการเปิดตลาดเพิ่มเติม หลังจากที่เคยตกลงลดภาษีเนื้อวัวเหลือ 0% ภายในปี 2569 ตามข้อตกลงการค้าเสรีปี 2550
นายชาง ซอง-กิล ผู้อำนวยการกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมประท้วงว่า เกาหลีใต้จะเน้นย้ำถึงความอ่อนไหวของภาคเกษตรกรรมในการเจรจาครั้งนี้
ทั้งนี้ประเด็นภาษีนำเข้าข้าวของเกาหลีใต้ ซึ่งสูงกว่า 500% และเคยถูกประธานาธิบดีทรัมป์วิจารณ์ ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นหารือในระดับปฏิบัติการ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้
4. ค่าใช้จ่ายทางทหารและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
ประเด็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการแบ่งปันค่าใช้จ่ายสำหรับทหารอเมริกันราว 28,500 นายในเกาหลีใต้ กำลังอยู่ระหว่างหารือผ่านช่องทางด้านการเงินและความมั่นคงแยกต่างหาก เจ้าหน้าที่เปิดเผย
5. การลงทุนและความร่วมมืออุตสาหกรรม
เจ้าหน้าที่การค้าเกาหลีใต้เน้นย้ำว่า ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต่อเรือ จะช่วยกระตุ้นภาคการผลิตของสหรัฐฯ และลดปัญหาดุลการค้าขาดดุล รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้มีบทบาทนำในด้านปัญญาประดิษฐ์ ชิป แบตเตอรี่ รถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์
6. โครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่อลาสก้า
ขณะที่เกาหลีใต้กำลังพิจารณานำเข้าพลังงานจากสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่ากำลังชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ของการเข้าร่วมโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ ที่อลาสก้า
โดยรัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านความเป็นไปได้ของโครงการ และสหรัฐจะให้ข้อมูลเชิงเทคนิคเพิ่มเติมภายในปีนี้
อ้างอิง : reuters.com