"นายภูมิธรรม" เน้น ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ดันอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้ เปิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ
"นายภูมิธรรม" เน้น ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ดันอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้ เปิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ
(8 กรกฎาคม 2568) ที่ ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รมว.วัฒนธรรม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะ ร่วมงาน "Taste Of Southern อัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้" จัดโดย ศอ.บต. ที่ได้ขานรับนโยบายการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาล เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นของชายแดนใต้ สามารถสร้างมูลค่าและรายได้สูงขึ้น จึงได้จัดแสดง "Taste Of Southern อัตลักษณ์พื้นถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ " คัดเลือกผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นถิ่น จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าและบริการของชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน (ศอ.บต.) ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ประกอบการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ศอ.บต.ได้คัดสรรสินค้าพื้นถิ่นในพื้นที่ จชต.ที่มีความโดดเด่น มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกายสิ่งทอและหัตถกรรม เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ของใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกและผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพ อาทิ ผ้าบาติก ผ้าปะละงิง ผ้าปาเต๊ะ กระเป๋าย่านลิเภา และกระจูด รองเท้าสุขภาพที่แปรรูปจากยางพารา กรงนก ว่าวเบอร์อามัส โดยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม นำเสนอในลักษณะกระเช้า พร้อมกันนี้จัดให้มีการเดินแบบ Fashion Show เพื่อแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าและเครื่องประดับความโดดเด่น
การดำเนินการครั้งนี้ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการทั้งระดับกลุ่มครัวเรือน กลุ่มชุมชนและกลุ่มส่งออก ร่วมกันเสริมสร้างโอกาสในการยกระดับและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และสินค้าอัตลัตลักษณ์พื้นถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป