ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง อว. ผนึกกำลัง IAEAเปิดเวที "โรงเรียนโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMR School)"
ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง อว. ผนึกกำลัง IAEA และ 11 ประเทศ พร้อมพันธมิตรระดับชาติ เปิดเวที “โรงเรียนโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMR School)” เตรียมพร้อมระดับชาติทุกด้าน
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังกล่าวพิเศษบนเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “SMR School: Interregional Workshop on Key Aspects of SMR Development and Deployment” ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมใหญ่ ปส. ว่า ภายใต้นโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งยกระดับศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของไทย พร้อมสนับสนุนการเสริมสร้างองค์ความรู้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMR) ปส. จึงบูรณาการความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) จัดประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ SMR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ปลอดภัยและปล่อยคาร์บอนต่ำ ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบาย วิชาการ และการกำกับดูแลของประเทศไทย โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค หน่วยงานกำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบายจาก 11 ประเทศ จำนวน 93 คน ในระหว่างวันที่ 21–25 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น และ ปส.
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อไปว่า การประชุมนี้ มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ทั้งด้านนโยบาย วิศวกรรม กฎหมาย และความปลอดภัย พร้อมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามแนวทางของ IAEA เพื่อรองรับการพัฒนา SMR ในอนาคตของประเทศไทย
และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ปส. ยังมีกิจกรรมส่วนสำคัญของการประชุมฯ ในการต้อนรับและบรรยายพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีบุคคลสำคัญจากหน่วยงานระดับชาติด้านพลังงานของไทยร่วมกล่าวต้อนรับ แสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานในแต่ละบริบทที่เกี่ยวข้องกับ SMR โดยหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ คือ การบรรยายพิเศษ (Keynote Speech) โดย Dr. Liu Hua รองผู้อำนวยการใหญ่ IAEA และหัวหน้าฝ่ายความร่วมมือทางเทคนิค ในหัวข้อ “The Strategic Role of SMRs in Achieving Net-Zero and the IAEA’s Role in Enabling Safe Deployment of the Technology” โดยกล่าวว่า IAEA มุ่งสร้างความเข้าใจระดับชาติเกี่ยวกับ SMR และให้ประเทศสมาชิกกำหนดกรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาและการนำ SMR ไปประยุกต์ใช้ สู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission และ IAEA พร้อมสนับสนุนประเทศสมาชิกอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างองค์ความรู้ และการยอมรับของสาธารณชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากหน่วยงานด้านพลังงานของไทย อาทิ
• ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้ แต่เรากำลังศึกษาบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์อย่างใกล้ชิดในฐานะแหล่งพลังงานที่มั่นคง ปล่อยคาร์บอนต่ำ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะ SMR ซึ่งมีจุดเด่นด้านความปลอดภัย ติดตั้งง่าย ใช้งานยืดหยุ่น และความยืดหยุ่นในการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลหรือระบบไฟฟ้านอกโครงข่าย สอดรับกับนโยบายพลังงานสะอาดและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในระยะยาว”
• นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า (กฟผ.) กล่าวว่า “บทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนา SMR ในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้และสร้างความร่วมมือกับทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เชื่อว่าประเทศไทยมีทั้งศักยภาพและความสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบในการนำ SMR มาใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
• ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน (ปตท.) กล่าวว่า “ปตท.มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำให้กับประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง SMR เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และนานาชาติ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับประเทศไทยผ่านเวทีความร่วมมืออย่าง SMR School”
• นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ผู้จัดการใหญ่และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (GPSC) กล่าวว่า “องค์กรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี SMR ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของไทย ชูจุดเด่นของ SMR ที่เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย มีความปลอดภัย และเหมาะกับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม พร้อมตั้งเป้าร่วมมือกับ IAEA, กฟผ. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้ง SMR แห่งแรกของไทยใน 10 ปีข้างหน้า และในก้าวต่อไป GPSC จะเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี SMR สำหรับประเทศไทย”
นอกจากนี้ ในระยะเวลา 5 วันของการประชุม ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้และหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ
• รายงานสถานภาพของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการพัฒนา SMR
• หลักการด้านเทคนิคและความปลอดภัยของการออกแบบ SMR
• ความพร้อมด้านกฎหมายและการกำกับดูแล
• การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงทรัพยากรมนุษย์ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
• การวางแผนพลังงานในระดับชาติ โดยเฉพาะบทบาทของ SMR ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนต่ำ
นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวทิ้งท้ายว่า “ปส. ขอขอบคุณ IAEA สำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและบทบาทผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูง และผู้เข้าร่วมจากนานาชาติทุกท่านที่ได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมงานกับเราในสัปดาห์นี้ ผมมีความเชื่อมั่นว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายร่วมกัน คือ การสร้างอนาคตด้านพลังงานที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน”
นอกจากนี้ ปส.อว. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ประกาศความพร้อม พร้อมเดินหน้ากำกับดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มแข็งในทุกมิติ โดยเฉพาะการยกระดับกฎหมายและแนวทางมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคง ปลอดภัยของ ประเทศชาติ ประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างสูงสุด
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง อว. ผนึกกำลัง IAEAเปิดเวที “โรงเรียนโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMR School)”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th