‘รังสิมันต์’ ประณาม ‘กัมพูชา’ หลังใช้อาวุธต้องห้ามปะทะชายแดนไทย
‘รังสิมันต์’ ประณาม ‘กัมพูชา’ หลังใช้อาวุธต้องห้ามปะทะชายแดนไทย จี้ รัฐบาลเร่งตอบโต้เชิงการทูต-ปกป้องประชาชน ย้ำพฤติกรรมก้าวร้าวละเมิดอนุสัญญาสากล ส่อ บานปลายหากไร้การจัดการที่เด็ดขาด
วันนี้ (24 ก.ค. 68) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดการปะทะกัน ว่า ขอใช้โอกาสนี้ในการประณามรัฐบาลกัมพูชา พฤติกรรมของกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงการละเมิดอนุสัญญาออตตาว่าโดยการใช้กับดักระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งไม่ควรเป็นอาวุธที่ใช้กันแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเรายอมรับไม่ได้ ดังนั้นเราต้องประณามการกระทำของประเทศกัมพูชาที่ดำเนินการให้เรื่องนี้เกิดขึ้นตนเองเชื่อว่ารัฐบาลกัมพูชาต้องมีส่วนรู้เห็น การกระทำนี้อย่างแน่นอน ทั้งที่กัมพูชาควรเข้าใจได้มากกว่าหลายประเทศว่าความร้ายแรงความรุนแรงในเรื่องกับดักระเบิดเป็นอย่างไร ชาวบ้านกัมพูชาได้รับความสูญเสียในเรื่องกับดักระเบิดมาเป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดของโลกกลับใช้พฤติกรรมเรื่องกับดักระเบิดแบบเดียวกันกับฝ่ายไทย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าการเจรจาพูดคุยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ฝ่ายไทยก็ต้องมีการตอบโต้เรื่องนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งคิดว่าเบื้องต้นที่ทางฝ่ายไทยดำเนินการได้หลังจากที่มีการชี้แจงต่อทูตทหารของหลายประเทศคิดว่าเรามีเรื่องที่สามารถทำได้ทันทีเพื่อให้โลกได้เห็นพฤติกรรมของกัมพูชา ซึ่งอาจจำเป็นต้องสังเกตการณ์สถานการณ์ โดยเชิญทูตประเทศต่าง ๆ ไปร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งโลกจะต้องได้เห็นอย่างเต็มที่ และมีข้อมูลเพียบพร้อมว่ากัมพูชามีความก้าวร้าว และยั่วยุ เพื่อให้สถานการณ์บานปลายต่อไป ด้านกระทรวงการต่างประเทศเองต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้การที่จะไปรอเดือนธันวาคม เพื่อหารือตามมาแนวทางอนุสัญญาออตตาวาช้าเกินไป แล้วข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม คือเราควรนำเรื่องนี้เสนอต่อ UNCA ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของสหประชาชาติเพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นว่ากัมพูชามีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า ตนเองได้หารือกับ นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย โดยเป็น สส. พื้นที่บริเวณช่องจอม จ.สุรินทร์ ซึ่งวันนี้เกิดการยิงปืนใหญ่กันแล้วสถานการณ์บานปลาย และสิ่งที่ตนเองเป็นห่วงมากที่สุดคือ ประชาชนตามแนวชายแดนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งเราต้องมีการเตรียมความพร้อม และได้ทราบว่าเบื้องต้นได้มีการซักซ้อมในพื้นที่ เชื่อว่าในพื้นที่มีความพร้อมแต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแบบนี้นานแค่ไหน ดังนั้นเราต้องเตรียมทุกความเป็นไปได้ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ ไม่สมควรที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เราต้องหาวิธีรองรับให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง เด็ก จึงต้องฝากไปถึงรัฐบาลเมื่อมีการขัดกันทางอาวุธเกิดขึ้น กลุ่มเปราะบางประชาชนทั่ว ๆ ไป ควรจะได้รับความปลอดภัย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้ของคณะกรรมาธิการฯ เดิมทีเราใช้อำนาจเรียกในการเรียก ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก็เข้าใจว่าบางคนอาจมีภารกิจที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์เราคงต้องฟังคำอธิบายถึงสาเหตุว่าไม่มาเพราะอะไร ส่วน นางสาวแพทองธาร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ต้องยอมรับว่าเรื่องคลิปเสียงทำให้ฝ่ายรัฐบาล และรัฐบาลด้วยกันไม่สามารถพูดคุยกันได้แล้ว ต้องยอมรับว่าผู้นำ 2 คนอาจจะมีปัญหาเรื่องส่วนตัวหรือไม่ มีปัญหาเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ แต่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นทำให้คนหนุ่มสาวชาวบ้านทั่วไปได้รับผลกระทบความขัดแย้งในเรื่องนี้ ดังนั้นสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ดูไม่มีทีท่าหาทางออกได้ เราต้องยอมรับว่าวันนี้บุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบ
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่นางสาวแพทองธารไปพูดในที่ต่าง ๆ จะมีการชี้แจงต่อกรรมาธิการอย่างไรซึ่งต้องดำเนินการต่อไป นางสาวแพทองธารคงไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับการแก้ไขสถานการณ์ในวันนี้แล้ว ส่วนนายภูมิธรรมก็รอดูว่าจะมาหรือไม่ ถ้าไม่มาก็ต้องบอกว่าติดภารกิจอะไร ส่วนนายมาริษได้รับแจ้งแล้วว่าติดภารกิจที่ต่างประเทศ
“จึงอยากใช้โอกาสนี้ฝากผ่านกระทรวงต่างประเทศด้วยว่าหาก กระทรวงต่างประเทศทำหน้าที่ตัวเองได้ดีมาก ๆ เชื่อว่าจะลดโอกาสของความขัดแย้งระดับสูงให้ลดลงมา อาจไม่ได้การันตี 100% แต่อย่าน้อยที่สุดหากเรามีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ที่มีประสิทธิภาพการใช้อาวุธก็จะถูกลดความสำคัญลงมา ส่วนตัวคิดว่าทางไทย ต้องตอบโต้ในสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่อยากให้ลุกลามบานปลายนำไปสู่ความสูญเสีย” นายรังสิมันต์ กล่าว
นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะคิดว่าการเชิญนักการทูตไปที่สถานการณ์ในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในเมื่อไม่สามารถพูดคุยกับทางกัมพูชาได้ แต่สามารถคุยกับทูตได้ ดังนั้นการพูดคุยกับต่างประเทศก็เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องเรียบเรียงสถานการณ์จากเบาไปหาหนักเพราะมีวิธีการรองรับในเรื่องของการไม่ให้พลเรือนได้รับผลกระทบซึ่งมีความจำเป็น สุดท้ายสถานการณ์จะไปถึงไหนคงตอบไม่ได้ว่าทางกัมพูชาจะยั่วยุใช้ความรุนแรงไปถึงเมื่อไหร่ แต่ดูแล้วท่าทีของสมเด็จฯ ฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาพร้อมทำทุกวิถีทางโดยไม่ได้เลือกวิธีการเลย เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่าการที่จะพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุนเซน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การคุยกับลูกและประเทศต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญสูงสุด
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมากัมพูชามีการยั่วยุมาตลอดเราควรตอบโต้อย่างไรนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะไม่ตอบโต้ต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาว่าทางกัมพูชาต้องการอะไร ซึ่งทางกัมพูชาต้องการพาไทยไปศาลโลกเป็นสิ่งที่กัมพูชาต้องการ แม้จะมีการขัดกันทางอาวุธเกิดขึ้นจะมีโอกาสหรือไม่ที่กัมพูชาจะพาเราไปศาลโลก ตนเองก็ยอมรับว่ามี แต่ประเด็นสำคัญคือเมื่อสถานการณ์ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจึงขอใช้เวลานี้แสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัว และคิดว่าเราต้องตอบโต้ต่อไปขณะเดียวกันก็ต้องยืนยันกับนานาชาติว่าเราไม่ได้รังแก กัมพูชา แต่กัมพูชามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศต้องทำงานให้กระตือรือร้นกว่านี้ และบอกกับเวทีต่างประเทศว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่ต้องการความขัดแย้งและต้องพาทูตไปเห็นสถานการณ์หน้างานซึ่งเป็นเรื่องที่จำ เป็นเราสามารถจัดการอย่างเหมาะสมได้ แต่ไม่ได้เป็นการก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ทำให้ฝ่ายความมั่นคงทั่วโลกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้
"ความสำคัญอันดับแรกจะต้องทำอย่างไรให้ทั่วโลกเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้ต้องการความขัดแย้งแต่เป็นกัมพูชาที่ต้องการความขัดแย้ง และต้องการยั่วยุ และคิดว่าเป็นการมอบโอกาสหลายหลายอย่างในการทำให้ประเทศไทย สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ " นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า มาตรการเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์รัฐบาลควรกระตุ้นได้มากกว่านี้ต้องทำทุกทางที่จะเป็นไปได้แต่ก็ต้องตอบโต้สถานการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากกัมพูชาต้องยอมรับว่าสิ่งที่กัมพูชาทำอีกนิดนึงก็เป็นเรื่องของก่อการร้ายแล้ว เป็นพฤติกรรมที่แย่มากและต้องประณามในสิ่งที่เกิดขึ้น
ส่วนยาแรงในการหยุดยั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังใช้ได้หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่มียาไหนที่จะหยุดยั้งความบ้าคลั่งของผู้นำกัมพูชาได้ โดยเฉพาะนายฮุน เซน ที่อายุเยอะแล้วคิดว่าการใช้วิธีนี้ เพื่อไปทำโฆษณาชวนเชื่อว่าจะทำให้ทั่วโลกเชื่อว่ากัมพูชาชนะไทยได้การมีความเชื่อแบบนี้ จึงพยายามทำทุกทางไม่ได้สนใจว่าความสูญเสียจะเป็นอย่างไร เราต้องรู้ทันสถานการณ์และรู้ว่ากัมพูชาต้องการอะไรสิ่งสำคัญคือการทำให้ทั่วโลกเข้าใจถึงพฤติกรรมของกัมพูชา และมีปัญหาเรื่องของคอลเซ็นเตอร์ก็จะสามารถแสวงหาพันธมิตรทำให้กัมพูชาเห็นว่าการกระทำแบบนี้มันไม่ได้อะไร
นายรังสิมันต์ ยังฝากไปถึงรัฐบาลว่า เราต้องคิดว่าเราจะชนะสงครามอย่างไร แน่นอนว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่สงคราม แต่ไม่ใช่การมองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น เราต้องเห็นถึงภาพรวมว่าสถานการณ์นี้ต้องไม่ทำให้กัมพูชาได้ในสิ่งที่ต้องการ และรักษาศักดิ์ศรีของประเทศการตอบโต้ควรเป็นตามความจำเป็นตามเหมาะสมโดยกัมพูชาต้องรับผิดชอบพฤติกรรมที่ก่อไว้ก็เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เห็นรอบด้าน ทั้งมิติของต่างประเทศการตอบโต้ด้วยกำลังและการจัดการเรื่องพลเรือนก็ตาม
ด้าน นางปทิดา กล่าวว่า สิ่งแรกคืออยากให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัย เพราะเมื่อเช้าเพิ่งมีการสั่งอพยพ ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในอำเภอพนมดงรัก ประสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธมที่เกิดเหตุปะทะกัน อยากให้อพยพและเชื่อว่าเรามีการซ้อมแผนการอพยพก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เป็นอย่างดี ทุกหมู่บ้านจะออกไปตามเส้นทางที่เคยมีการวางแผนเอาไว้ เพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นสักวันเชื่อมั่นว่ารัฐบาลของเราจะมีการเจรจาที่ชัดเจน มากกว่านี้ มีการสื่อสารที่ชัดเจนโดยตรงไปถึงคนไทยได้มากกว่านี้
"แต่วันนี้ได้เห็นแล้วว่าการเจรจาไม่ได้มีข้อมูลอะไรให้พวกเราเลยไม่มีความคืบหน้า แต่ประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่น และไว้ใจทหารไทย " นางปทิดา กล่าว
นางปทิดา กล่าวว่า แม้เราจะมีการเตรียมความพร้อมในการอพยบแต่เรารู้ข่าวช้าไป จึงได้สั่งการให้อพยพก่อนที่จะเกิดเหตุยิงกันกันไม่กี่นาทีซึ่งตอนนี้ในพื้นที่มีการอพยพหมดแล้ว แต่ที่ห่วงคือผู้ป่วยติดเตียงผู้สูงอายุ ซึ่งการอพยพอาจมีความติดขัดอยู่บ้าง