‘ดร.น้ำแท้’ ชี้คดีน้องเมยสะท้อนศาลทหารไร้อิสระ-แนะฟ้องแพ่ง ชี้หาก พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีผล ต้องขึ้นศาลพลเรือน
สืบเนื่องจากคดีการเสียชีวิตของ “นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์” หรือ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 (นตท.ปี 1) โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นปีการศึกษา 2560 โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 น้องเมยเสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหาร หลังมีอาการไม่สบายในช่วงเช้า และถูกลงโทษทางวินัยหรือที่เรียกในวงการทหารว่า “ธำรงวินัย” โดยรุ่นพี่ชั้นปีที่ 2 กระทั่งล่าสุดวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารสูงสุดมีคำพิพากษาชั้นฎีกา ให้ยืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ ว่าจำเลยซึ่งเป็นรุ่นพี่มีความผิดทำร้ายร่างกาย ทำโทษโดยฝ่าฝืนคำสั่งกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร นอกจากนี้ ศาลเห็นว่า ด้วยอายุจำเลย ไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยไป ก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัว รับราชการ รับใช้ชาติต่อไป จะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงพิพากษาโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี จนเป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงสัดส่วนการรับผิดชอบของผู้กระทำความผิด ขณะที่ผู้เสียชีวิตและครอบครัวคล้ายไม่ได้รับความเป็นธรรมในตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. “ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์” สอบถามมุมมองความคิดเห็นกับ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ร่วมยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
โดย ดร.น้ำแท้ สะท้อนความเห็นว่า สาระสำคัญการมี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก็เพื่อผลักดันให้การกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายได้กระทำต่อพลเรือน หรือแม้กระทั่งนักเรียนเตรียมทหารกระทำต่อกันเองหรือผู้บังคับบัญชากระทำต่อทหารเกณฑ์ พลทหารกระทำต่อพลทหารด้วยกันเอง เป็นต้น คดีจะต้องขึ้นสู่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหมด
ทั้งนี้ ระหว่างนั้นบุคคลที่กระทำผิดอาจถูกพิจารณาให้ออกจากราชการไว้ก่อนไปแล้วด้วยซ้ำ และครอบครัวผู้เสียชีวิตเองก็จะได้รับการคุ้มครองจากฎหมาย ไม่ใช่ว่าทหารกระทำต่อกัน แล้วต้องเอาสำนวนคดีขึ้นศาลทหาร กรณีนี้ก็ถือเป็นโอกาสให้สังคมได้ตระหนักแล้วว่าศาลทหาร หรือกรณีการปกป้องกันเองของกลุ่มคน จะเกิดการลงโทษในกลุ่มคนเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งศาลทหารก็ไม่ได้มีความอิสระเหมือนศาลยุติธรรม
ดร.น้ำแท้ ระบุว่า สำหรับมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ได้ระบุว่า “ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมการกระทำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย” ซึ่งมาตรานี้คือการปิดช่องโหว่ที่ผู้บังคับบัญชาจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ถือว่าเป็นการปิดช่องของการซ่อมหรือธำรงวินัย
อย่างไรก็ตาม ดร.น้ำแท้ ระบุว่า นับเป็นเรื่องเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีกฎหมายอุ้มหายซ้อมทรมานบังคับใช้ แต่ตนอยากเรียนให้ทราบว่าปัจจุบันนี้ก็มีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้น หรือในอนาคตอาจจะมีเหตุการณ์คล้ายลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เหล่านี้คือตัวอย่างที่ว่าความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะขับเคลื่อนให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บในอนาคตจะได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายอย่างแน่นอน
ดร.น้ำแท้ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลทหาร นับว่าไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในกรณีดังกล่าวยังถือว่ามีความคืบหน้าในส่วนของมีการฟ้อง มีคำพิพากษา หากเป็นสมัยก่อนเรื่องอาจไม่ขึ้นสู่ศาลทหาร เพราะถูกตีตกไปก่อน ซึ่งก็อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดี คำชี้แนะต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต คือ การเดินหน้าฟ้องในส่วนของคดีแพ่ง เพื่อจะได้รับการชดใช้เยียวยาต่อไป เพราะสามารถดำเนินการในส่วนทางแพ่งได้นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาตัดสิน.