นับถอยหลัง ‘พายุวิภา’ จ่อถล่มไทย 19-24 ก.ค. หลายพื้นที่ฝนตกหนัก-เสี่ยงน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจ เตือนภัยพิบัติฝนฟ้าอากาศ ได้ออกมาโพสต์ประเด็นการเกิดเซลล์พายุใหม่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนชื่อ"วิภา" ศูนย์พยากรณ์ยืนยันแนวโน้มรุนแรงสูง ปริมาณน้ำฝนจากการคาดการณ์อยู่ในระดับมหาศาล ขอให้ประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่รับลมมรสุมและลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก อีกทั้งข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้ ควรติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรายวัน
โดยเพจเตือนภัยพิบัติฝนฟ้าอากาศ ระบุข้อความว่า "ถือกำเนิดแล้วเซลล์พายุ ว่าที่พายุหมุนเขตร้อนพายุวิภา" เหลือเวลาอีก 164 ชั่วโมง ด่วนเตือนย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฝ้าระวังพายุ ยืนยันข้อมูลแล้วหลายค่าย ทั้งนี้ ข้อมูลยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ให้ติดตามข้อมูลวันต่อวันเป็นหลัก อย่าประมาทเตือนภัยตอนบนเฝ้าระวัง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกด้านรับลมมรสุม ภาคกลาง อาจจะหนักเป็นบางพื้นที่ เน้นภาคเหนือเป็นหลัก ถ้ามาจริงระวังน้ำเหนือไหลบ่า ปิง วัง ยม น่าน เฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตาม"กรมอุตุนิยมวิทยา" ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย คลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2568) ฉบับที่ 1 (181/2568) ในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2568 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะ บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุทัยธานี กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา เนื่องจากจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเส้นทางที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมขังในระยะสั้นได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร
อย่างไรก็ตาม บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ขอบคุณข้อมูล : เตือนภัยพิบัติฝนฟ้าอากาศ และ กรมอุตุนิยมวิทยา