เตือนเปิดตลาดสหรัฐแลกลดภาษี 36% อาจเกิด Twin Influx บั่นทอนการแข่งขัน
"วิจัยกรุงศรี" ประเมินกรณีเลวร้ายหากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 36% มูลค่าการส่งออกจะหายไปกว่า 1.62 แสนล้านบาท และหากยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สหรัฐ ไทยอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Twin Influx ในวันที่ 7 กรกฎาคม ไทยได้รับจดหมายจากสหรัฐ แจ้งเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หากไม่มีข้อตกลงทางการค้าใหม่เกิดขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าปรับปรุงเพิ่มเติม หลังการเจรจารอบแรกไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเร่งขอเจรจาเพื่อต่อรองให้ได้อัตราภาษีที่ลดลงต่ำกว่า 36%
หากสินค้าส่งออกของไทยต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐ และสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งสามารถเจรจาลดอัตราภาษีเหลือ 20% (และ 40% สำหรับสินค้าที่ต้องสงสัยว่าถูกส่งผ่าน) ในกรณีเลวร้ายนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะหายไปถึง 1.621 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ยางและพลาสติก
ส่วนกรณีหากไทยและสหรัฐ บรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม โดยที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 20% ขณะที่ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เป็น 0% ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจรุนแรงน้อยกว่ากรณีที่มีการเรียกเก็บภาษีที่ 36% ถึง 9.3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไป 0.174 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ดังกล่าวอาจเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะสร้างอีกปัญหาตามมา โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเป็นอย่างมาก จากแบบจำลองพบว่าในระยะยาวการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ อาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือประมาณ 1.883 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม อาจเผชิญกับการหลั่งไหลเข้าของสินค้าจากสหรัฐ ในอัตรากว่า 100% ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ยางและพลาสติก ก็อาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลักเช่นกัน
การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีอาจนำไปสู่ภาวะ "Twin Influx" หรือ การไหลทะลักเข้าของสินค้าจากสหรัฐ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทย ในท้ายที่สุด ภาวะ "Twin Influx" อาจบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานถึง 28.6% ของกำลังแรงงาน (ปี 2567) ทั้งนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจมีทางเลือกตอบโต้ที่จำกัด ดังนั้น จึงควรเร่งขยายตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ มากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศแกนหลัก