นักวิทย์เตรียมละลายแกนน้ำแข็งอายุ 1.2 ล้านปี เพื่อไขปริศนาโลก
ทีมนักวิจัยนานาชาติที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน 12 แห่งจาก 10 ประเทศในยุโรป ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะแกนน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาที่มีอายุมากกว่า 1.2 ล้านปี เพื่อรวบรวมตัวอย่างน้ำแข็งเหล่านี้ส่งไปยังห้องแล็บในสหราชอาณาจักร ซึ่งหลังจากนี้พวกมันจะถูกละลายเพื่อวิจัยค้นหาปริศนาด้านสภาพภูมิอากาศและบรรยากาศของโลก
พวกเขาบอกว่า แกนน้ำแข็งที่ถูกตัดออกมาเป็นทรงกระบอกความยาวประมาณ 1 เมตรเหล่านี้ เปรียบเสมือนเแหล่งเก็บข้อมูลต่างๆ ของโลก เช่น อุณหภูมิบรรยากาศในอดีต ตัวอย่างอากาศที่เก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ภายในซึ่งอาจมีอายุหลายพันปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวาดภาพอดีตของโลกได้อย่างละเอียดมากขึ้น และหวังว่าจะเปิดเผยรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของโลกเรา
ก่อนหน้านี้ทีมภาคสนามต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก เพื่อขุดเจาะและแปรรูปแกนน้ำแข็งเหล่านี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเพียง 200 วัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของที่ราบสูงแอนตาร์กติกาตอนกลาง ด้วยระดับความสูงประมาณ 3,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิเฉลี่ย -35 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นทีมวิจัยกลุ่มแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในโครงการนี้
ล่าสุดมีรายงานว่า แกนน้ำแข็งที่ถูกขุดเจาะออกมาทั้งหมดได้ถูกขนส่งอย่างระมัดระวังโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิแบบพิเศษ ซึ่งเดินทางมาถึงสหราชอาณาจักรแล้ว โดยแกนน้ำแข็งชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดอาจมีอายุมากถึง 1.5 ล้านปี
หลังจากนี้ทีมวิจัยจะใช้เวลาอีกราว 7 สัปดาห์เพื่อละลายแกนน้ำแข็งที่ได้มาอย่างยากลำบาก เพื่อศึกษาฟองอากาศ ฝุ่นจากยุคโบาณ เถ้าภูเขาไฟ ไปจนถึงสาหร่ายทะเลขนาดเล็กที่บังเอิญถูกแช่แข็งอยู่ด้านใน
ทีมวิจัยระบุว่า ระบบภูมิอากาศของเราผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มามากมาย จนเราจำเป็นต้องย้อนเวลากลับไปเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการต่างๆ และจุดเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้