รมว.เกษตรฯ ลุยเมืองคอน ติดตามการจัดการน้ำ ย้ำเดินหน้าลดน้ำท่วม-แล้ง
รมว.เกษตรฯ ลุยเมืองคอน ติดตามการจัดการน้ำ ย้ำเดินหน้าลดน้ำท่วม-แล้ง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามโครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสฯ
โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายเสกสรร ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปรายละเอียดโครงการฯ
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความจุเก็บน้ำประมาณ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีระบบกระจายน้ำหลักๆ 3 ส่วน ได้แก่ ระบบส่งน้ำท่อนิคมควนขนุน ระบบส่งน้ำควนมีชัย และ ฝายคลองไม้เสียบ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 90,248 ไร่ ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และทำการเกษตรแม้ว่าอ่างฯ จะมีน้ำไหลเข้าเฉลี่ยปีละ 97.5 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรได้เพียง 83.2 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องระบายน้ำส่วนเกินประมาณ 14.3 ล้าน ลบ.ม. ทิ้งเป็นประจำทุกปี
กรมชลประทาน โดยสำนักงานโครงการชลประทานที่ 15 เล็งเห็นว่า ปริมาณน้ำส่วนเกินที่ต้องระบายในแต่ละปีนี้ สามารถนำมาพัฒนาระบบส่งน้ำเพิ่มเติม และขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำในพื้นที่เดิมให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต จึง
มีแผนงานเพื่อพัฒนาระบบส่งน้ำที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2570 - 2572 จำนวน 6 โครงการ ได้แก่
1.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่บ้านควนปลิง ควนไม้น้อง ควนขี้ลม ตำบลวังอ่าง จำนวน 1,500 ไร่
2. โครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะขันธ์ จำนวน 500 ไร่สนับสนุนโครงการสาธิตการกรีดน้ำยางพารารูปแบบใหม่โดยการยางแห่งประเทศไทยพื้นที่ประมาณ 100 ไร่
3. อาคารบังคับน้ำคลองไม้เสียบ ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะขันธ์ จำนวน 500 ไร่
4. ประตูระบายน้ำคลองห้วยกรวด ตำบลนางหลง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลง จำนวน 110 ไร่
5. โครงการปรับปรุงแนวท่อนิคมควนขุนส่วนต่อขยาย สาย 21-RMP ตำบลนางหลง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลง จำนวน 1,200 ไร่
6.โครงการทำนบดินให้ละมังคุดพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลเขาพระทอง อำเภอจะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช - สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในหมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระทอง ประมาณ 350 ไร่
หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 4,160 ไร่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 555 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานจาก 90,248 ไร่ เป็น 94,408 ไร่ อีกด้วย
จากนั้นในช่วงบ่ายนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะ เดินทางไปยัง สำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังบรรยายสรุปโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่เมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปโครงการฯ
เดิมในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง และบริเวณใกล้เคียง มักจะประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปี ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เมื่อฝนตกหนักจะเกิดกระแสน้ำไหลแรงและเร็วมาก ทำให้น้ำไหลบ่ามาท่วมเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำตรัง และทะเลอันดามันที่จังหวัดตรัง ตามลำดับ
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่เมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่อำเภอทุ่งสง รวมทั้งมีแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองทุ่งสง อาทิ งานขุดลอก การปรับปรุงคลองระบายน้ำสายหลัก และอาคารตามลำน้ำ ระยะทาง 65.709 กิโลเมตร งานขุดลอกผันน้ำ ระยะทางประมาณ 5.80 กิโลเมตร และงานก่อสร้างปรับปรุงอาคารบังคับน้ำอัก 10 แห่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองทุ่งสง
ทำให้สามารถควบคุมและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 6,100 ไร่ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน 3 ตำบล และ 1 เทศบาล รวมไปถึงประชาชนริม 2 ฝั่งคลองมีน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ หวังตอบสนองความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมชลฯ เตือนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับน้ำเหนือเพิ่ม 20-80 ซม.
- เปิดทางน้ำทั่วไทย!! กรมชลฯ ลุยกำจัดผักตบ-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ฝ่าวิกฤตฤดูฝน
- ฝนถล่มภาคเหนือ หนุนระดับน้ำเพิ่ม กรมชลฯ เร่งลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
ติดตามเราได้ที่