โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

เมื่อตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง

Amarin TV

เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ทิศทางของดอกเบี้ยที่ไหลลงในหลายประเทศ ทำให้ความสนใจในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Bond/Debt) ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง

ในช่วงครึ่งปีแรกที่เราได้เห็นสารพัดความผันผวนจากนโยบายทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ (หลายคนเสนอว่านี่คือการเกิดขึ้นของ Multipolar World — ซึ่งก็แปลกดีเพราะถ้าพิจารณากันดีๆ เงินและเทคโนโลยีจำนวนมากที่มาจากการลงทุนต่างๆ ก็ยังมาจากสหรัฐฯ อยู่ดี จะเกิดปรากฏการณ์โลกหลายขั้วนั้นคงเป็นไปได้ยาก) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เลือกเล่นนโยบายการค้าอย่างจริงจัง ทำให้ภาษีนำเข้าที่เคยถูกจัดเก็บในค่าเฉลี่ยที่ระดับต่ำ กลับมาสูงอีกครั้งในรอบหลายสิบปี

สิ่งที่เป็นผลพวงจากการเก็บภาษีและย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศสหรัฐฯ (reshoring) หรือการย้ายฐานไปยังประเทศข้างเคียงหรือเป็นมิตร (friendshoring) นั้น คือการที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกดลงได้ยาก คาดการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการเศรษฐศาสตร์หรือการเงินแต่ประการใด ขนาดประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ Jerome Powell ยังออกมายอมรับด้วยตนเองว่า หากไม่มีนโยบายกำแพงภาษีออกมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงปรับลดดอกเบี้ยไปได้นานแล้ว

ในทางตรงกันข้าม จีนที่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางการค้าในรอบนี้อย่างชัดเจน กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดจากปัจจัยสำคัญคือคนจีนบริโภคน้อยลง ในขณะที่กำลังการผลิตต่างๆ ก็ยังไม่ได้ลดลง จนส่งผลให้มีสินค้าเหลืออยู่ในระบบมาก ประกอบกับการส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ทำให้จีนต้องส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งก็รวมมหามิตรประเทศอย่างบ้านเราเข้าไปด้วย จึงกลายเป็นว่าจีนส่งออกเงินฝืดไปยังประเทศอื่นๆ ข้างเคียง

สถานการณ์ดังกล่าวในต่างประเทศเรียกอย่างชัดเจนว่า “Inflation in the US, Deflation elsewhere” หรือว่าง่ายๆ คือ เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ส่วนประเทศอื่นมีเงินเฟ้อที่ลดลงหรือเงินฝืดนั่นเอง การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวหรือช้าลงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับเศรษฐกิจ เพราะนั่นแปลว่าเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่โตช้าหรือไม่มีการโตเกิดขึ้นนั่นเอง การมีเงินเฟ้ออ่อนๆ (กรอบธนาคารชาติหลายแห่งทั่วโลกคือ 2%) บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังเดินหน้าไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ถ้ามากไปก็บ่งชี้ว่าร้อนแรง ถ้าน้อยไปก็บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะชะงักหรือหดตัว (ลองดูญี่ปุ่นก่อนช่วงโควิดได้ครับ)

เมื่อเงินเฟ้อเปลี่ยนไป ปกติแล้วธนาคารกลางทั่วโลกมักใช้นโยบายการเงิน (monetary policy) ในการปรับปรุงเงินเฟ้อให้เข้าไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกหยิบใช้บ่อยที่สุดก็คือดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) ที่มักเป็นดอกเบี้ยรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประเภทชั่วข้ามคืน (overnight repo rate) ถ้าต้องการให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง ก็ขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องหรือเงินส่วนหนึ่งเข้าไปที่ธนาคารกลาง ส่วนถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินเฟ้อไม่ต่ำจนเกินไป ก็ลดดอกเบี้ย เพื่อคืนสภาพคล่องให้กับระบบนั่นเอง ว่าง่ายๆ คือใช้ดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปริมาณเงิน (money supply) ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ

ที่กล่าวหลักการพื้นฐานมา 2 ย่อหน้าด้านบน เนื่องจากว่าภาพในตอนนี้กลายเป็นว่า สหรัฐฯ อาจลดดอกเบี้ยไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะกำแพงภาษีจะผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เว้นแต่ว่าอัตราการจ้างงานจะแย่ลง คนตกงานมากขึ้น ซึ่ง FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ถือหลักการ Dual Mandate ต้องพิจารณาการจ้างงานให้มากที่สุด ในขณะที่ต้องรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า (เงินเฟ้อ) กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้อยู่

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางทั่วโลกกลับต้องเผชิญหน้าเงินเฟ้อที่ลดลงจนจะถึงเป้าหมายแล้ว (ตัวอย่างเช่น ECB หรือธนาคารกลางยุโรป ที่เงินเฟ้อยุโรปใกล้ถึงกรอบ 2%) และอาจจะต้องลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (เนื่องจากสินค้าจีนถูกส่งออกมาเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาด) ทำให้ธนาคารกลางเหล่านี้ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยนโยบายไปชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

จากคาดการณ์ของ Bloomberg Consensus ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าตลาดประเมินว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะไม่ได้ลดลงมากสำหรับสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้า (อยู่ที่ราว 4.05% สำหรับปี 2025— ลงจากจุดปัจจุบันที่กรอบบน 4.50% ไปราวๆ 0.45% และ 3.65% ในปี 2026 ลงจากจุดปัจจุบันราว 0.85%)

แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกา กลับมีช่องในการลดดอกเบี้ยที่สูงกว่า โดยยุโรปตะวันออกสิ้นไตรมาสแรกดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20.21% และสิ้นปีนี้ตลาดคาดว่าจะลดลงเหลือ 15.86% (ลดลงราว 4.35%) และปีหน้าเหลือ 10.92% (ลดลงจากจุดไตรมาสแรกของปีที่ 9.29%) ส่วนละตินอเมริกาที่ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจบไตรมาส 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 14.11% ลดลงเหลือ 13.63% ภายในสิ้นปีนี้ และ 11.57% ภายในปีหน้า (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.48% ปีนี้ และ 2.54% ปีหน้า)

กราฟ 1 คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาคทั่วโลก (ที่มา: Bloomberg, XSpring AM Investment Research)

เหตุผลที่คาดการณ์ออกมาเช่นนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกา ที่เงินเฟ้อไหลลงอย่างรวดเร็วมาก ผิดกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่มักเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเงินเฟ้อไหลลงไปรอแล้ว จน ECB ต้องลดดอกเบี้ยตาม หรือในเอเชียที่เงินเฟ้อต่ำ (จากจีน) ทำให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยไม่ได้เยอะมาก

กราฟ 2 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในหลายภูมิภาคทั่วโลก (ที่มา: Bloomberg, XSpring AM Investment Research)

ด้วยทิศทางของดอกเบี้ยที่ไหลลงในลักษณะนี้ ทำให้ความสนใจในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Bond/Debt) ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ที่ต่างเริ่มแห่เข้าซื้อตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ และยิ่งมาเกิดเหตุการณ์สงครามการค้าที่ทำให้นักลงทุนต่างเทขายสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ และถือสินทรัพย์ในสกุลอื่น ทำให้ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลกอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ตราสารหนี้ไทยที่ตั้งแต่ต้นปีซื้อไปแล้วถึง 2.9 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย) ซึ่งนี่คือคำอธิบายว่าทำไมเงินบาทไทยแข็งค่าด้วย นั่นก็เพราะเงินที่ไหลเข้ามานั่นเอง

แผนกวิจัยด้านการลงทุนของธนาคารสำคัญหลายแห่งของโลก (เช่น Goldman Sach, Bank of America) รวมถึงบริษัทวิจัยการลงทุนอิสระ (เช่น GlobalData TS Lombard) ต่างออกบทวิเคราะห์แนะนำการลงทุนตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้สำหรับครึ่งปีหลังอย่างครึกครื้น ซึ่งถ้าจะให้กล่าวแล้ว สินทรัพย์ประเภทนี้มักถูกละเลยจากตลาด ไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่แทบจะทั่วทั้งโลก เนื่องจากความเสี่ยงที่มากกว่าตราสารหนี้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แถมกองทุนส่วนน้อยในกลุ่มนี้ที่จะมีผลงานโดดเด่นยืนในระยะยาวได้ และถ้าลงทุนตามดัชนีก็มักจะไม่ค่อยดี (perform) เมื่อเทียบกับกองทุนที่บริหารจัดการเชิงรุก (active management) ที่มีมุมมองการลงทุนที่ชัดเจนครับ

เมื่อสินทรัพย์นี้เป็นที่น่าสนใจ คำถามที่มักจะตามมาคือ แล้วจะลงทุนอย่างไร? ต้องเข้าใจก่อนว่าการซื้อตราสารหนี้โดยตรงนั้นไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ที่สภาพคล่องน้อย (เปลี่ยนมือได้ยากกว่า) และต่อให้หาเจอก็จะติดที่ขนาดในการซื้อ ทำให้ส่วนมากแล้วการลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ มักเน้นไปที่การลงทุนผ่านกองทุนรวมมากกว่า ซึ่งทำให้คนที่ไม่ได้มีเงินมากในระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์ และไม่มีความเชี่ยวชาญ สามารถลงทุนได้นั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เองยังแบ่งภาพใหญ่ได้เป็นอีกสองลักษณะ คือ Hard Currency หรือตราสารหนี้ที่ออกในสกุลเงินมั่นคงที่เป็นสกุลเงินหลักทั่วโลก ความผันผวนน้อยกว่า (เช่น USD, EUR, JPY, CHF, GBP) และสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ที่จะมีความผันผวนในมิติค่าเงินที่มากกว่า และอาจทำให้ผลตอบแทนแกว่งได้เมื่อคิดกลับมาเป็นค่าเงินกลุ่มสกุลเงินมั่นคงทั้งหลาย ซึ่งการออกตราสารหนี้ค่าเงินมั่นคงโดยเฉพาะกับตราสารหนี้ภาครัฐบาล (เช่น รัฐบาลไทยออกพันธบัตรในรูปสกุลยูโร) มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่ออก แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่อาจผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่เป็นผู้ออกไม่ได้ออกในสกุลเงินของตนเอง ซึ่งไม่ได้แปลว่าการออกในสกุลเงินมั่นคงนั้นไม่ดี เพราะความผันผวนของค่าเงินที่ต่ำกว่าและบริหารจัดการง่ายกว่า ทำให้อัตราผลตอบแทนมักไม่แกว่งมากจนเกินไป

ดังนั้น กองทุนรวมตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ จึงมีลักษณะของการลงทุนทั้งในรูปแบบของ Hard Currency และ Local Currency แล้วแต่มุมมองของนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนด้วย และเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ เมื่อจะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ ขึ้นกับว่านักลงทุนกำลังมองหาการลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง และความเสี่ยงเรารับได้มากน้อยแค่ไหน

กล่าวโดยสรุปแล้ว เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศเกิดใหม่กำลังลดลง สินทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์ทางตรงคือตราสารหนี้ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งในมิติของการลงทุนนั้นส่วนมากมักทำผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะต้องเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม ตรงกับมุมมองของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Hard Currency หรือ Local Currency ก็ตาม ซึ่งบทวิเคราะห์ของหลายบริษัทด้านการเงินชี้ว่าครึ่งปีหลังนี้สินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่นั้นมีความโดดเด่นจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ที่เอื้ออย่างมากสำหรับการลดดอกเบี้ย และทำให้ตราสารหนี้เหล่านี้โดดเด่นขึ้นนั่นเอง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Amarin TV

ชาวบ้านแฉ! อดีตเจ้าอาวาส ไร้เมตตา ขึ้นค่าเช่าที่ดินวัดโหด 35% ทุก 5 ปี

5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ดรามา! ชาวเขมรทำพิธีสาปแช่งกลางปราสาทตาควาย

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความหุ้น การลงทุนอื่น ๆ

2 หุ้นเพชรซ่อนคม! การเงินไร้เทียมทาน

หุ้นวิชั่น

[Vision Exclusive] ORI ครึ่งหลังฟื้นแรง ตุน Backlog 4.5หมื่นล.

หุ้นวิชั่น

เงินทะลักเข้า กองทุน Spot Bitcoin ETF ดัน AUM แตะ 152 พันล้านดอลลาร์

การเงินธนาคาร

ศาลสั่งคืนเงิน 4,500 ล้านบาท คดี MORE “ปล้น” ตลาดทุนพลิก โบรกฯ 11 ราย รับเงินชดเชย

การเงินธนาคาร

'ศาลแพ่ง'สั่งยึดเงิน MORE คืนโบรกฯ ‘ดีเอสไอ’เผยอัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องอาญา

กรุงเทพธุรกิจ

ศึกชิงเค้กสุกี้ 2 หมื่นล้านเดือด! MK ปะทะ JMART ส่ง "โบนัสสุกี้" บุกตลาดบุฟเฟต์ท้าชน "ตี๋น้อย" ใครได้เปรียบในเกมนี้?

Share2Trade

ข่าวและบทความยอดนิยม

หุ้นกลุ่มแบงก์ยังสดใส? ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน

Amarin TV

"ภูมิธรรม" แจง ไม่เคยคุยกับสหรัฐฯ ใช้ ฐานทัพเรือทับละมุ แลกปรับภาษี

Amarin TV

"ธรรมนัส" ปัดคุยการเมือง "ทักษิณ" ยํ้า ถกรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ

Amarin TV
ดูเพิ่ม
Loading...