สพฐ. ปลื้ม 3 เขตพื้นที่ร่วมจัดกิจกรรม มรดกทางวัฒนธรรมไทย- สปป.ลาว
.
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อบูรณาการมรดกทางภูมิปัญญาสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ระหว่างโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ประเทศไทย กับ โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ปองคำ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เข้าร่วม ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี
.
โครงการนี้ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ปองคำ เพื่อบูรณาการมรดกทางภูมิปัญญาสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของครูผู้สอนและนักเรียน โดยมีจุดเด่นในเรื่องการบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่หลากหลายกลุ่มวิชาเข้าด้วยกัน อาทิ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในด้านประวัติศาสตร์, กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ในด้านชีววิทยา, กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในด้านนักเรียนแกนนำหรือนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการตอบสนองโครงการ ICH ขององค์การยูเนสโก (โครงการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้) ในส่วนของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (2003 Convention) ที่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงประเพณี ความเชื่อ การแสดงออกทางวัฒนธรรม ความรู้ และทักษะที่สืบทอดกันมา เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกเหล่านี้ โดยคุณครูของทั้งสองโรงเรียน ได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรการพัฒนาครูไทย - ลาว เรื่อง การบูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ความเป็นพลโลกและการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนบูรณาการมรดกทางภูมิปัญญา เกิดทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เกิดองค์ความรู้ความเข้าใจของความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ
.
การดำเนินงานครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 2 ระยะที่ 2 มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ครูโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จำนวน 10 คน, ครูโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ปองคำ จำนวน 10 คน นักเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จำนวน 35 คน, นักเรียนโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ปองคำ จำนวน 24 คน และยังมีคุณครูและนักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนสุรวิทยาคาร สพม.สุรินทร์ จำนวน 11 คน และโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส สพม.สกลนคร จำนวน 2 คน เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ หลังจากลงพื้นที่ทัศนศึกษายังแหล่งเรียนรู้แล้ว ครูและนักเรียนจะร่วมกันนำมาบูรณาการในห้องเรียนเพื่อต่อยอดให้เห็นผลเชิงประจักษ์ต่อไป อาทิ ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม นักเรียนจะนำความรู้ที่ได้มาจัดทำสื่อเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียให้สาธารณชนรับรู้เข้าใจและตระหนักถึงมรดกทางภูมิปัญญาของไทยและของท้องถิ่น ด้านกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ พร้อมสืบสานและต่อยอดไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพได้ และในส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะใช้กลไกนักเรียนแกนนำ YC (Youth Counselor) หรือนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ในการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนนักเรียนด้วยกันได้อย่างอุ่นใจ
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้นับเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ผ่านมรดกทางวัฒนธรรม ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีครูและนักเรียนทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน บนพื้นฐานของความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกัน จากที่ได้เยี่ยมชม กิจกรรมได้รับการออกแบบอย่างมีเป้าหมายชัดเจน โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูทุกสาขาวิชาได้ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทจริงของพื้นที่ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ
.
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง การนั่งรถไฟสำรวจเมืองอุดรธานี และกิจกรรม “นักสำรวจน้อย” ล้วนเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่จริง เชื่อมโยงองค์ความรู้กับโลกปัจจุบัน ตามแนวคิดของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่เห็นว่าประวัติศาสตร์คือเครื่องมือในการสร้างพลเมืองโลก รวมถึงจุดเน้นนโยบายหลักของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.ศธ. ที่กำลังดำเนินการผลักดันการเรียนการสอน “วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง” ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เยาวชนเข้าใจรากเหง้าและพัฒนาการของประเทศอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับแนวทางของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่มุ่งให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของชาติผ่านการเรียนรู้ที่มีความหมาย
.
"สิ่งที่น่าชื่นชม คือ ความต่อเนื่องของโครงการและความตั้งใจของทุกภาคส่วนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เข้าถึงนักเรียนอย่างทั่วถึง โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เข้าใจบทบาทของตนในฐานะพลเมืองโลก และเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน ต้องขอขอบคุณผู้บริหาร ครู นักเรียน และเครือข่ายทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมอันทรงคุณค่านี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นการพัฒนาครูและนักเรียน แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่มรดกทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ พร้อมส่งเสริมให้นักเรียนเติบโตเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพในอนาคต" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว