พิกัด ผักสดพบพยาธิปนเปื้อน 77% รีบเช็คที่ไหนอันตรายสุด
เพจ “Parasite stories เล่าเรื่องปรสิต” รายงานผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการปนเปื้อนของพยาธิในผักสด ซึ่งเป็นงานวิจัยจากคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Tropical Medicine and Hygiene โดยระบุว่าผักสดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในมีอัตราการปนเปื้อนของพยาธิสูงถึง 77% หรือคิดเป็น 154 จาก 200 ตัวอย่างที่ตรวจพบ
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวางใน 5 เขตหลัก ได้แก่ ห้วยขวาง, คลองเตย, ปทุมวัน, จตุจักร และพระนคร โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก 8 ชนิด จำนวน 200 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่เหล่านี้ ก่อนนำมาตรวจสอบด้วยเทคนิคการตกตะกอนและกล้องจุลทรรศน์
ผลการตรวจพบว่า เขตห้วยขวาง และ จตุจักร มีอัตราการปนเปื้อนสูงสุดถึง 90% (P < 0.05) ส่วนพยาธิที่ตรวจพบมากที่สุด ได้แก่
ตัวอ่อน Strongyloides stercoralis (57%)
- ไข่พยาธิปากขอ (20%)
- ไข่พยาธิไส้เดือนกลม Ascaris lumbricoides (16%)
- ไข่แส้ม้า Trichuris trichiura (12%)
- ไข่พยาธิไส้เดือน Toxocara spp. (10%)
- รวมถึงพยาธิชนิดอื่น ๆ
ในบรรดาผักทั้งหมด ผักกาดขาวจีน เป็นผักที่พบไข่พยาธิปากขอและไข่ T. trichiura มากกว่าผักชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะพบการปนเปื้อนของ S. stercoralis ในระดับต่ำกว่า
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า “ผักสดอาจเป็นแหล่งแพร่พยาธิที่สำคัญต่อมนุษย์” ผู้บริโภคจึงควรใส่ใจในการล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน
ขณะเดียวกันผู้ขายก็ควรสวมถุงมือระหว่างเตรียมหรือจับต้องผักเพื่อลดโอกาสสัมผัสกับพยาธิที่สามารถเจาะผ่านผิวหนังได้ อีกทั้งควรพิจารณารับประทานยาถ่ายพยาธิเชิงป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง