ศึกเหมืองลิเทียมบราซิล เขย่าสิทธิชุมชนก่อนประชุม COP30
เขตลิเทียมของบราซิล ชาวท้องถิ่นหวั่นเกรงต่อแรงผลักดันที่อาจล้มล้างกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความต้องการ "แร่ธาตุ" เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น นักการเมืองสายส่งเสริมธุรกิจและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศเจ้าภาพการประชุม COP30 อย่างบราซิล กำลังต่อสู้กันเพื่อกำหนดแนวทางควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่
หลายศตวรรษที่ทองคำและเพชรได้ดึงดูดผู้แสวงโชคสู่หุบเขา Jequitinhonha ของบราซิล และในขณะที่กระแสเร่งขุดลิเทียมกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ประชาชนบางส่วนต่างหวั่นเกรงว่า ความผิดพลาดในอดีตกำลังเกิดขึ้นซ้ำอีก เพียงแต่ครั้งนี้มาในนามของพลังงานสะอาด
เมืองหลักของ Jequitinhonha คือ เมืองอาราซูอาอี สมาชิกสภาเทศบาลได้ผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อลดขนาดของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม (APA) ที่ชื่อว่า Chapada do Lagoao อย่างมาก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนแหล่งลิเทียมและทับซ้อนกับบริเวณที่บริษัทเหมืองต่างชาติหวังจะเข้ามาผลิตโลหะสีเงินอ่อนเบาชนิดนี้ที่ใช้ในแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายกล่าวว่า พรมแดนของ APA ซึ่งขยายออกไปราว 24,000 เฮกตาร์ (59,000 เอเคอร์) และมีแหล่งน้ำธรรมชาติกว่า 130 แห่ง ควรได้รับการปรับให้สอดคล้องกับเขตเทศบาล
แต่ฝ่ายวิจารณ์สงสัยว่า ลิเทียมคือเหตุผลแท้จริงของการลดขนาดพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งประชาชน รวมถึงชาวพื้นเมืองและชุมชนชาวกีลอมโบลา ได้ออกมาประท้วงเพื่อขัดขวางไม่ให้บริษัทเหมืองเข้ามาดำเนินการ
Climate Home News รายงายว่า มีเพียง 86 เฮกตาร์ (212 เอเคอร์) ของพื้นที่คุ้มครองที่ทับซ้อนกับเขตเมือง ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลดพื้นที่ลงถึง 58% ที่สุดท้ายได้รับการอนุมัติ
รัฐมีนัสเจไรส์ ซึ่งเป็นผู้ประสานการผลักดันอุตสาหกรรมลิเทียมในเขต Jequitinhonha ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมนี้ เช่น การลงทุนใหม่มูลค่า 6.3 พันล้านเรียล (1.13 พันล้านดอลลาร์) และการจ้างงานใหม่ 3,900 ตำแหน่งในภูมิภาคนี้
ประเทศเจ้าภาพ COP ทุ่มหนักกับลิเทียม
บราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม COP30 ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีปริมาณสำรองลิเทียมจำนวนมาก ซึ่งใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และอาจเพิ่มสัดส่วน 2% ในการผลิตระดับโลกได้อย่างรวดเร็วเมื่อโครงการใหม่เริ่มดำเนินการ
แม้ปริมาณสำรองของบราซิลน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาร์เจนตินาและโบลิเวีย ซึ่งมีทรัพยากรลิเทียมมากที่สุดในโลก แต่หุบเขา Jequitinhonha เพียงแห่งเดียวก็มีถึง 85% ของปริมาณทั้งหมดในบราซิล โดยที่ทั่วโลกคาดว่าความต้องการโลหะชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าภายในปี 2050 จำนวนใบอนุญาตที่ออกให้สำหรับโครงการลิเทียมในหุบเขานี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มวิจัยเหมืองแร่ Observatory of the Valleys and the Semiarid Region ทำแผนที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนใบอนุญาตเพิ่มจากน้อยกว่า 50 ฉบับในปี 2022 เป็นมากกว่า 300 ฉบับภายในกลางปีนี้
เนื่องจากกฤษฎีกาของรัฐบาลกลางที่ลงนามในปี 2022 โดยอดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัด ฌาอีร์ โบลโซนาโร ซึ่งเปิดทางให้บริษัทเหมืองต่างชาติสามารถขุดและส่งออกลิเทียมได้ โดยละเว้นกฎเดิมที่เน้นให้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล จากพรรคแรงงาน (PT) ยังคงปล่อยให้กฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ต่อไป
แรงสนับสนุนอย่างมากจากทางการรัฐ
ผู้สนับสนุนการทำเหมืองลิเทียมกล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้สามารถนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการจ้างงานมาสู่ Jequitinhonha ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของรัฐมีนัสเจไรส์
ต้นเดือนกรกฎาคม เมืองอาราซูอาอีได้จัดงานเกี่ยวกับเหมืองลิเทียมที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้าร่วม โดยได้เน้นถึงเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของโครงการลิเทียมวัลเล่ย์ บราซิล เปิดตัวที่ตลาด Nasdaq ในนิวยอร์กเมื่อปี 2023 โดยชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการนี้ว่า การจ้างงานใหม่ทำให้มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทางการรัฐยังกล่าวว่า กำลังลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองและบริการสาธารณะ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ การศึกษา และการช่วยเหลือทางสังคมและยังคงเปิดรับการเข้าตรวจสอบทางเทคนิคกับชุมชนพื้นเมืองและรับฟังความต้องการ
แต่กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรสิทธิชนพื้นเมือง และนักวิจารณ์อื่น ๆ ซึ่งกล่าวว่า ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานในเดือนนี้ เเละกล่าวโทษกระแสเร่งขุดลิเทียมว่าได้นำปัญหาใหม่มาสู่พื้นที่ ทั้งการคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิม แหล่งน้ำในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง และทำให้ค่าที่อยู่อาศัยพุ่งสูง เเละชี้ถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการบูมเหมืองในอดีต และต้องการให้รัฐบาลลูลานำข้อกังวลเรื่องเหมืองแร่เพื่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วาระของ COP30
จากการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วในวารสาร One Earth ระบุว่า โครงการเหมืองแร่เพื่อการเปลี่ยนผ่าน 54% ทั่วโลกตั้งอยู่บนหรือใกล้กับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ