EU จับตา “ปักกิ่ง” เร่งขุด “แร่แรร์เอิร์ธ” ใน “เมียนมาร์” ขนกลับจีนกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนแพร่สารพิษลงแม่น้ำภาคเหนือในไทย
เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - เมียนมาร์ผงาดกลายเป็นผู้เล่นมีบทบาทสำคัญในการทำให้ "จีน" กลายเป็นชาติเดียวในโลกที่คุมแร่แรร์เอิร์ธ(rare earth)ที่สำคัญสำหรับการผลิตตั้งแต่แบตเตอร์รีรถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงอาวุธทางการทหาร สหภาพยุโรปจับตารายงานผลกระทบมลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเข้าไทยแพร่สารพิษลงแม่น้ำกกที่ภาคเหนือ
EnergyWorld ของอินเดียรายงานวันนี้(21 ก.ค)ว่า กระทรวงข้อมูลเมียนมาร์ได้เผยแพร่รายงานเมื่อไม่นานมานี้ถึงผลกระทบจากการที่จีนเร่งขุดแร่แรร์เอิร์ธในรัฐกะฉิ่นขนส่งกลับประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจมาตั้งแต่ปี 2021 นั้นกลับสร้างปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมในประเทศพม่าเอง และที่สหภาพยุโรป EU จับตาความเคลื่อนไหวการขุดแร่แรร์เอิร์ธของปักกิ่งในพม่านั้นได้ส่งมลพิษข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
ที่กลายเป็นว่าแร่แรร์เอิร์ธราคาถูกในเมียนมาร์ที่เกิดขึ้นในเหมืองที่ไร้การควบคุมส่งผลทำให้สารเคมีพิษและโลหะหนักไหลลงแม่น้ำกกที่ทางตอนเหนือส่งผลต่อจ.เชียงราย อ้างอิงข้อมูลที่ได้มาจากสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษภายใต้การจับตาของสำนักงานยุโรปด้านเมียนมาร์ EBO (EURO-BURMA OFFICE) ของสหภาพยุโรปที่ได้เผยแพร่ข้อมูลในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 17 ก.ค ล่าสุดผ่านเว็บไซต์ทางการ
ทั้งนี้ EBO มีสำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และยังมีสาขามูลนิธิ EBO ตั้งอยู่ในจ.เชียงราย
ตามข้อมูลพบว่า ในปี 2023 มีการทำเหมืองกว่า 300 แห่งโดนมีบ่อเหมืองมากกว่า 3,000 แห่ง แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมาร์เมื่อปี 2021 พบว่าปฎิบัติการเพิ่มขึ้น 40% และปักกิ่งได้ซื้อแร่แรร์เอิร์ธจำนวน 41,700 ตันจากเมียนมาร์ภายในปีเดียวกัน
EnergyWorld รายงานต่อว่า ตามการรายงานของกระทรวงข้อมูลเมียนมาร์ถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธนี้ยังกระทบด้านสุขภาพประชาชนในพื้นที่และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สของสหรัฐฯเคยรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.คก่อนหน้าว่า เมียนมาร์เองไม่สามารถขุดหาแร่แรร์เอิร์ทได้เอง เพราะต้องพึ่ง "ปักกิ่ง" ที่เป็นตัวการที่ส่งสารเคมีข้ามพรมแดนเข้ามาเพื่อการขุดหาแร่แรร์เอิร์ธออกจากใต้ดินก่อนที่จะขนนำกลับเข้าประเทศเพื่อทำให้บริสุทธิ์
CNBC ของสหรัฐฯรายงานเมื่อวันที่ 23 มิ.ยที่ผ่านมาว่า เมียนมาร์ถือเป็นหนึ่งในแหล่งแร่แรร์เอิร์ทที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า แร่แรร์เอิร์ทที่หายากจากเมียนมาร์ส่วนใหญ่ส่งเข้าจีน
สื่ออิรวดีของเมียนมาร์เมื่อวันที่ 28 ธ.ค ปี 2024 กล่าวถึงการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ทของบริษัทจีนต่างๆในเมียนมาร์ว่าเป็นการ “ปล้นสะดม” ความมั่งคั่งแร่แรร์เอิร์ธพม่ากระทบต่อความมั่นคงโลก
พบว่าจีนควบคุม 90% ของตลาดโลกแร่แรร์เอิร์ธทั้งหมดและเป็นผู้นำในการมีแหล่งแรร์เอิร์ธของโลก โดยคาดว่ามีราว 44 ล้านตันในปี 2024 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแหล่งแร่แรร์เอิร์ธของทั้งโลกที่มีราว 90 ล้านตันโดยประมาณ
แต่ในทางตรงข้ามสหรัฐฯกลับมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธคิดเป็นแค่ 1.9 ล้านตันและยังคงต้องพึ่งพาอย่างหนักจากการนำเข้าจากต่างประเทศ
ประเทศอื่นที่มีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธรวมถึง บราซิล 21 ล้านตัน อินเดีย 6.9 ล้านตัน ออสเตรเลีย 5.7 ล้านตัน รัสเซีย 3.8 ล้านตัน และเวียดนาม 3.5 ล้านตัน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ USGS ในปีเดียวกัน
และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า “เมียนมาร์” กลับไม่มีอยู่ในรายชื่อเหล่านี้ถึงแม้จะมีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธมากมายโดยเฉพาะที่ "รัฐฉาน" และ "รัฐกะฉิ่น" ก็ตาม
สื่ออินเดียชี้ว่า อ้างอิงข้อมูลกระทรวงข้อมูลเมียนมาร์พบว่า การทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธทุนจีนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า เกิดมลพิษทางน้ำ และยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของชุมชน ซึ่งมีปฎิบัติการเหมืองแร่บางส่วนอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธ
และตรงกับการเผยแพร่ข้อมูลของ EBO สหภาพยุโรปที่ระบุว่า ปัญหามลพิษทางน้ำข้ามพรมแดนกระทบอย่างหนักต่อจ.เชียงรายโดยเฉพาะแม่น้ำกกที่ปนเปื้อนสารหนูซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลลงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาย
ปัญหาสารพิษจากเหมืองแร่แรร์เอิรธในพม่าที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในการควบคุมของว้าลงสู่แม่น้ำกกในไทยและแพ่ลงแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนระหว่างไทยและลาวนั้นถูกรายงานโดยหนังสือนิวยอร์กไทม์สเช่นกัน โดยชี้ว่าประชาชนไทยในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบต่างบ่นถึงปัญหาสุขภาพเกิดปัญหาโรคผิวหนังหลังสัมผัสน้ำจากแม่น้ำกกและแม่น้ำใกล้เคียง รวมไปถึงปลาที่จับมาได้ไม่สามารถรับประทานได้
เพียรพร ดีเทศน์ (Pianporn Deetes) ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลไทยว่า “ล่าช้า”
พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่า ถือเป็นวิกฤตมลพิษข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ไทยได้เคยประสบมาและต้องลงมือในทางปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหาทันที
ทั้งนี้ยังเสริมว่า “ทางออกเดียวคือการหยุดการทำเหมืองเหล่านี้”
EnergyWorld รายงานว่า ปัญหามลพิษจากการขุดแร่แรร์เอิร์ธของปักกิ่งนั้นสื่อเมียนมาร์ Global New Light of Myanmar ได้ตั้งคำถามว่า “ใครเป็นคนที่ได้ประโยชน์จริงๆจากแร่แรร์เอิร์ธพม่าเหล่านี้?”พร้อมรายงานว่า ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทางสิ่งแวดล้อมแต่กลับได้รับค่าตอบแทนเล็กน้อยไปจนถึงไม่ได้รับค่าตอบแทนโดยตรง
ไร่นาทางการเกษตรชาวพม่าปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ แหล่งน้ำปนเปื้อนและวิถีชีวิตตามแบบดั้งเดิมถูกทำลาย และชาวบ้านเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ การพลัดถิ่น การไร้ความเสถียรภาพทางสังคมแต่ทว่ากลับไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด การบริการสาธารณสุข หรือการศึกษา
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO