บาทแข็งค่า นักลงทุนจับตาเส้นตายเรียกเก็บภาษี
บาทแข็งค่า นักลงทุนจับตาเส้นตายสหรัฐเรียกเก็บภาษีที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค. 68 นี้ หลังล่าสุดบรรลุข้อตกลงกับเวียดนามแล้ว
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 32.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/7) ที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ลดลง 33,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 29,000 ตำแหน่งในเดืน พ.ค. หนุนให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ย.
ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้เน้นย้ำในงานเสวนาซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันอังคาร (1/7) ที่ผ่านมาว่า เฟดจะใช้แนวทางอดทนรอคอยก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ โดยกล่าวว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดจะได้รับ
อีกทั้งนักลงทุนจับตาร่างกฎหมายปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายขนานใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงที่ฉิวเฉียด และขณะนี้ได้ถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความบน Truth Social ระบุว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม โดยสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 20% หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐขู่เรียกเก็บภาษีดังกล่าวสูงถึง 46% อย่างไรก็ดี สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 40% หากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีการสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอื่น ก่อนที่จะส่งเข้ามายังเวียดนามเพื่อทำการส่งออกต่อไปยังสหรัฐ
นอกจากนี้ข้อตกลงระบุว่าเวียดนามจะเปิดตลาดอย่างเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐ โดยสหรัฐสามารถส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรแต่อย่างใด หรืออีกนัยหนึ่ง เวียดนามจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร 0% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ ทั้งนี้เส้นตายของระยะเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 90 วันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค.
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง โดยคาดว่าทั้งปี 68 ขยายตัวในระดับต่ำที่ราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff
นอกจากนี้ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้ถึง 2.3% ซึ่งดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม ทั้งนี้ที่ประชุม กกร.ยังประเมินว่า การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีนี้จะหดตัว เพราะการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรก ขยายตัวถึง 14.9% เป็นเพราะการเร่งนำเข้า ก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่ระยะข้างหน้าการส่งออกมีสัญญาณแผ่วลง และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี จะหดตัวกว่า -10% จึงทำให้การส่งออกทั้งปี ขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5-1.0%
โดย กกร.มองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงจากหลายปัจจัยรุมเร้า จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย ดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องภูมิภาค และสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง นอกจากนี้ กกร.เล็งเข้าพบหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.26-32.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 1.1806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/7) ที่ระดับ 1.1776/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนประเมินความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ เนื่องจากใกล้ถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทำข้อตกลงกับสหรัฐ
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1785-1.1809 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1791/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 143.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/7) ที่ระดับ 144.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
นายฮาจิเมะ ทาคาตะ สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในการประชุมผู้นำธุรกิจซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดมิเอะว่า BOJ หยุดพักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะกลับมาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐก็ตาม สะท้อนให้ห็นว่า BOJ ยังคงมองหาโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แม้ว่าความหวังในการเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐจะริบหรี่ลง หลังจาก ปธน.ทรัมป์ขู่ว่าจะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าญี่ปุ่นเป็น 35% จากแผนเดิมที่ตั้งไว้ 24% ซึ่งอาจเริ่มใช้ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.53-143.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 143.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย., อัตราว่างงานเดือน มิ.ย., ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย.จาก S&P Global, ดัชนีภาคบริการเดือน มิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค.
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.5/-7.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.8/-5.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : บาทแข็งค่า นักลงทุนจับตาเส้นตายเรียกเก็บภาษี
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net