‘มังคุด’ กินแต่พอดี มากคุณประโยชน์
“มังคุด” เป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยม และได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทย มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และมากด้วยคุณประโยชน์ จึงทำให้ใครๆก็ชอบรับประทานกันอย่างแพร่หลาย และถูกนำไปบริโภคในหลายรูปแบบ
สาระน่ารู้จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับผลไม้ยอดฮิตชนิดนี้ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอย่างเหมาะสม
สรรพคุณของมังคุด มีอะไรบ้าง
1. กินมังคุดช่วยให้อารมณ์ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต ลดความเครียด และป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
2. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ปรับระบบภูมิคุ้มกันให้สมดุล จึงช่วยลดโอกาสจะเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด การอักเสบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตับเสื่อม โรคพาร์กินสัน ไทรอยด์เป็นพิษ ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
3. กินมังคุดสุกช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดไขมันที่ไม่ดีในเส้นเลือด รวมทั้งช่วยขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงจะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหัวใจ
4. มังคุดมีสรรพคุณในการจับอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัยและการเกิดริ้วรอย บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใส
5. ช่วยย่อยอาหารและลดอาการท้องผูก เนื่องจาก เนื้อมังคุดสุกมีกากใยอาหารสูง
6. แก้ท้องเสีย หากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วงเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด มังคุดสามารถช่วยรักษาได้ด้วยการนำเปลือกมังคุด 1 ลูก ไปตากแห้ง จากนั้นนำไปต้มกับน้ำปูนใส แล้วเทดื่มแต่น้ำ
7. รักษาสิว สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติในการรักษาสิว ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุการเกิดสิว และลดการอักเสบได้ดี
8. ช่วยลดน้ำหนัก แม้เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน แต่มีแคลอรี่น้อยและพลังงานต่ำ
9. รักษาโรคผิวหนัง ตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน หากนำเปลือกมังคุดแห้งมาต้มน้ำอาบหรือผสมปูน สามารถใช้ทาแก้โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน เชื้อรา และผดผื่นคันได้
10. รักษาและสมานแผลในช่องปาก หากเกิดอาการปากแตก จะช่วยให้หายเร็วขึ้น ลดกลิ่นปาก บำรุงสุขภาพภายในช่องปากและเหงือกให้แข็งแรง
11. ลดและควบคุมระดับน้ำตาลได้ ซึ่งส่งผลช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
12. ช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสายตา
13. สารแซนโทนในมังคุด มีฤทธิ์ช่วยต้านและยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ และเชื้อไวรัสต่างๆ
14. เมล็ดมังคุดมีกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายมีความต้องการ แต่ไม่สามารถสร้างเองได้
แม้มังคุดมีสรรพคุณมากมาย แต่ควรบริโภคมังคุดในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากมีผู้บริโภคบางคน เกิดอาการผิวหนังบวมแดง เป็นผื่นคันตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน จากสารแซนโทนในมังคุด
นอกจากนี้ หากบริโภคมังคุดมากเกินไป จะส่งผลให้ได้รับสารแทนนิน (Tannin) ที่อยู่ในเปลือกของมังคุดมากเกินไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเป็นพิษต่อตับหรือไต ก่อให้เกิดมะเร็งในร่องแก้ม ในทางเดินอาหารส่วนบน และจะลดจำนวนเม็ดเลือดขาว จนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงจากปกติได้