เกษตรฯ จับตา"ภาษีสหรัฐ" ยันดูแลเกษตรกร
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการรับมือมาตรการทางภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีการประกาศว่า จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยที่ร้อยละ 36 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ที่จะถึงนี้ ว่า
ลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่า ‘สินค้าเกษตร’ จะเป็นหนึ่งในสินค้าที่จะได้รับผลกระทบตรงนี้ประเด็นดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดูแลและติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
นายประยูร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ได้จัดทำบัญชีสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้าที่อาจส่งผลกระทบกับเกษตรกร
อาทิ สินค้าข้าว ยางพารา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประสานงานและพร้อมนำเสนอข้อมูลให้คณะเจรจาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรให้ได้มากที่สุด
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ จึงขอย้ำให้เกษตรกรและประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับรัฐบาล ในการดูแลเกษตรกรให้มีความมั่นคง และไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าว
ด้านนายเพิก เลิศวังพง รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมหารือผลกระทบจากการบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ประกอบกิจการยางของไทย ว่า จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา ผู้ประกอบการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่อยากให้ตื่นตระหนก เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจาและอาจมีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม การเริ่มพูดคุยหารือกันในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการฟังเสียงจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยให้ กยท. วางแผนเตรียมมาตรการรับมือได้อย่างครอบคลุม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุดิบยาง ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น ซึ่งไม่ได้ถูกปรับเพิ่มอัตราภาษี แต่ยังต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคต และกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากยางพารา ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง