“ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เสนอนโยบายดอกเบี้ยเชิงรุก หากนั่งผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำต้องสอดประสานการคลัง
“ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เสนอนโยบายดอกเบี้ยเชิงรุก หากนั่งผู้ว่าฯ ธปท. พร้อมเร่งประสานนโยบายการเงิน-การคลังในทิศทางเดียวกัน หวังเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายในภาวะทรัพยากรจำกัด
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.10 น. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ระบุว่า หากได้รับการแต่งตั้ง ตนจะสื่อสารแนวทางดอกเบี้ยให้ชัดเจนและเชิงรุกมากขึ้นเล็กน้อยในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย พร้อมเรียกร้องให้มีความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส กล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารว่า“เมื่อเรามีทรัพยากรจำกัด ทุกกระสุนที่ใช้ต้องเกิดประสิทธิผลสูงสุด …ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราทำงานร่วมกัน นโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพและประสานสอดคล้องกันมากขึ้น”
การให้สัมภาษณ์ของดร.รุ่ง มัลลิกะมาส เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีเดิมคาดว่าจะเสนอชื่อ วิทัย รัตนากร ขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ แต่การพิจารณาถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ เปิดโอกาสให้ดร.รุ่ง ยังมีสิทธิลุ้นตำแหน่งนี้
ดร.รุ่ง ในวัย 56 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ ธปท. มาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน และถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความต่อเนื่องจากนโยบายของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ซึ่งต่อต้านแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ย ขณะที่ วิทัย วัย 54 ปี มีท่าทีสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยเคยออกมาเรียกร้องให้ลดภาระต้นทุนการกู้ยืมอย่างเปิดเผย
ทั้งนี้การล่าช้าในการแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ยังซ้ำเติมความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังศาลสั่งพักงานนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุตรสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยทักษิณเคยผลักดันนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาโดยตลอด และเคยขัดแย้งกับฝ่ายตุลาการ ข้าราชการ และกองทัพในอดีต
ขณะเดียวกันไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก ดัชนีตลาดหุ้น SET ของไทยติดกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในโลกในปีนี้
ในยุคของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ยืนหยัดต่อต้านแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยหรือปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส กล่าวว่า หากได้รับตำแหน่ง ตนจะเริ่มต้นด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาล ภาคการเงิน และภาคเอกชนในทันที
“หลายครั้งเรารอจนสถานการณ์กลายเป็นความขัดแย้ง …แต่หากเราพูดคุยกันตั้งแต่ต้น บอกกล่าวกันเร็วขึ้น โอกาสที่จะเข้าใจกันและหาทางออกร่วมกันก็จะมีมากขึ้น”
ดร.รุ่ง กล่าวสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ ธปท. ที่ลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 0.75% ตั้งแต่เดือนตุลาคม และชี้ว่าความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของนโยบายลดลง
“ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ นโยบายการเงินจำเป็นต้องมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจ และทำหน้าที่เป็นหลักยึดของเสถียรภาพ” ดร.รุ่ง กล่าว โดยดูแลด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบทบาทรองผู้ว่าการ ธปท. พร้อมเสริมว่า “เรามีความไม่แน่นอนมากพออยู่แล้ว และไม่ควรเพิ่มความไม่แน่นอนเข้าไปอีก จึงคิดว่าควรสื่อสารแนวทางนโยบายดอกเบี้ยให้ชัดเจนและเชิงรุกมากขึ้น”
ขณะนี้ยอดสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารหดตัวติดต่อกันมา 3 ไตรมาส ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้การนำของ กร.เศรษฐพุฒิ ยังคงเน้นการรักษาพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) ไว้ใช้รับมือกับความเสี่ยงในอนาคต แม้เศรษฐกรส่วนใหญ่จะคาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 0.50-0.75% ในปีนี้
ทั้งนี้ วิทัย ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไป เป็นผู้สนับสนุนแนวทางดอกเบี้ยต่ำ และการประสานงานระหว่างนโยบายการเงินกับการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแรง เขาเป็นประธานธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการช่วยเหลือผู้มีหนี้สิน โดยมีความใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง จนเกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
อย่างไรก็ตาม ดร.รุ่ง เคยทำงานกับ ธปท. มานานเกือบ 30 ปี มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการเงิน การกำกับดูแลระบบการเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) อีกทั้งยังเคยทำงานที่ธนาคารกรุงไทยในช่วงหนึ่ง
“ฉันเคยรับมือกับทั้งปัญหาเชิงมหภาคและจุลภาค มีความเข้าใจเครื่องมือของธนาคารกลางอย่างลึกซึ้ง รวมถึงบทบาทและขอบเขตงานของธนาคารกลางที่กว้างขวางมาก …สิ่งที่ฉันเสนอคือประสบการณ์ของฉันเอง”
อ้างอิง : www.bloomberg.com