“เผ่าภูมิ” ขออย่าเอา “ไทย” ไปเปรียบเทียบ “เวียดนาม" เจรจาภาษีทรััมป์
“เผ่าภูมิ” ขออย่าเอา “ไทย” ไปเปรียบเทียบ “เวียดนาม - อินโดนีเซีย” ในการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ย้ำผู้ชนะไม่ใช่ผู้ที่ได้ลดภาษีต่ำที่สุด แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้ดีลที่ดีและสมดุลที่สุดให้กับประเทศ
วันที่ 17 ก.ค. 2568 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกาว่า ผู้ชนะไม่ใช่ผู้ที่ได้ลดภาษีที่ต่ำที่สุด แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้ดีลที่ดีและสมดุลที่สุดให้กับประเทศ อยากให้ดูรายละเอียดลึก ๆ ว่าแต่ละประเทศได้อะไรและเสียอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ทั้งที่เวียดนามมีทั้งที่ได้รับภาษีนำเข้า 20% และ 40% ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในเวียดนามต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 40%
นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า กล่าวถึงแนวทางการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐฯ และประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่า ต้องอาศัยความรอบคอบและสมดุล เช่นเดียวกับตัวอย่างกรณีของอินโดนีเซีย ที่สามารถเจรจาขอลดภาษีกับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ซึ่งขณะที่ไทยเองก็อยู่ระหว่างการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเจรจาต้องพิจารณาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และแต่ละฝ่ายต่างมีข้อเสนอและข้อจำกัดของตนเอง
นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือ เราไม่สามารถนำตัวเลขจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม มาเปรียบเทียบกับไทยโดยตรงได้ เพราะบริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไทยมีโครงสร้างการผลิตที่หลากหลายกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และการจะได้มาซึ่งเงื่อนไขหรือผลประโยชน์ในการเจรจาต้องตั้งอยู่บนหลักความสมดุล ไม่ใช่เรียกร้องให้ได้ประโยชน์สูงสุดฝ่ายเดียว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นของประเทศ เช่น ภาคผู้นำเข้าหรือผู้บริโภค
ดังนั้น การเจรจาที่ดีไม่ใช่การที่ฝ่ายหนึ่งได้ผลประโยชน์สูงสุด แต่คือการที่ประเทศโดยรวมได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ไทยจึงต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบด้าน ใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยมุ่งหวังให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนสอดคล้องกับเป้าหมายในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ก.คลังได้เตรียมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไว้ 2 แสนล้านบาทเพื่อเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ จะใช้โครงสร้างด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีนโยบายจะทำให้ประเทศไทยเป็นไฟแนนเชียลฮับ และการแก้ไขทั้งในระบบและหนี้นอกระบบ
ด้านดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานสภาหอการค้าไทย ประเมินว่าอัตราภาษีที่ประเทศแถบเอเชียได้รับน่าจะอยู่ในระดับเดียวกันคือ 20% บวกลบทุกประเทศ ซึ่งจะไม่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ตนมองในแง่ดีว่าไทยจะได้อานิสงส์ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงขอให้รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้โตขึ้นภายใน 5-7 ปี เพราะศักยภาพการผลิตของไทยไม่แพ้ประเทศใดในโลก หากเปิดตลาดจริง ๆ น่าจะเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปี ยืนยันทางหอการค้าพร้อมสนับสนุนทีมไทยแลนด์เต็มที่ และสิ่งที่ได้จากภาษีทรัมป์รอบนี้คือขจัดปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์ที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ออกไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เผ่าภูมิ” ขออย่าเอา “ไทย” ไปเปรียบเทียบ “เวียดนาม" เจรจาภาษีทรััมป์
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ชิป H20 คัมแบค! สหรัฐฯ ไฟเขียว Nvidia ขายชิปให้จีนได้ จับตา AI กลายเป็นจุดร่วมสหรัฐฯ - จีน
- ทรัมป์บรรลุข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซีย ลดภาษีตอบโต้เหลือ 19% แลกเปิดตลาด
- EU เลื่อนตอบโต้ภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียม เร่งเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath