7 แผนรับมือ เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ใช้แรงทำเงิน& ให้เงินทำงาน กดSubscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
ยุคนี้อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน ทั้งค่าครองชีพ-หน้าที่การงาน…แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนแค่ไหน ถ้าเราวางแผนการเงินดี-ใช้เงินเป็น ยังไงก็รอดได้!
มาดู 7 แผนรับมือเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมชีวิตให้มั่นคง
มีเงินสำรองฉุกเฉิน
เงินสำรองฉุกเฉิน เหมือนเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดในช่วงเวลาที่คาดไม่ถึง เพราะเมื่อไหร่ที่ชีวิตต้องสะดุด ไม่ว่าจะเป็นการตกงาน เจ็บป่วย หรือมีค่าใช้จ่ายไม่คาดฝัน การมีเงินสดสำรองไว้ในมือจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เศรษฐกิจถดถอย การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมต่างๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
แล้วควรมีเท่าไหร่ดี โดยทั่วไปแล้ว นักวางแผนการเงินแนะนำให้มีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายประจำ แต่ถ้าจะให้สบายใจมากขึ้นควรมีให้ได้ถึง 12 เดือน
เก็บไว้ที่ไหนดีที่สุด ให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงและสามารถถอนได้ง่าย เพื่อให้เงินก้อนนี้พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อจำเป็น
วางแผนงบประมาณ
อาจสงสัยว่าเงินหายไปไหนหมดในแต่ละเดือน ซึ่งการที่ไม่รู้ว่าตัวเองใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ถือเป็นกับดักทางการเงินที่ทำให้ควบคุมการใช้จ่ายได้ยากมาก
- เริ่มจากจดบันทึกรายจ่าย
ลองจดทุกอย่างที่ใช้จ่ายในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนลงไปในสมุด หรือแอปพลิเคชัน ก็จะเห็นภาพรวมการใช้จ่ายที่ชัดเจนขึ้น และรู้ว่าเงินไหลไปทางไหนบ้าง
- แยกแยะความจำเป็นกับความต้องการ
ให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ อาหาร และค่าเดินทาง ส่วนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การกินข้าวนอกบ้านบ่อยๆ การสมัครสมาชิกที่ไม่จำเป็น หรือการซื้อของที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ควรถูกลดทอนหรือตัดออกไป
- ลองใช้งบประมาณแบบศูนย์ (0)
คือ การวางแผนให้เงินทุกบาททุกสตางค์มีหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย การออม การลงทุน หรือการจ่ายหนี้ ให้รายรับลบรายจ่ายเท่ากับศูนย์ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นว่าเงินถูกจัดสรรไปอย่างไร และไม่มีเงินเหลืออยู่โดยไม่มีเป้าหมาย
ลดค่าใช้จ่าย
ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งจำเป็น ลองมองหาช่องทางที่ช่วยให้ประหยัดเงินในแต่ละเดือนได้มากขึ้น
- ตรวจสอบและยกเลิกรายจ่ายประจำที่ไม่จำเป็น
ได้ใช้บริการสมัครสมาชิกต่างๆ ที่เคยสมัครไว้ครบถ้วนหรือไม่ ลองยกเลิกบริการที่ไม่ได้ใช้ หรือลดค่าบริการให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต
- โฟกัส 3 รายการใหญ่
ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มักจะไปกองรวมกันอยู่ที่ 3 สิ่งหลักๆ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร และการเดินทาง ลองหาทางลดค่าใช้จ่ายในส่วนเหล่านี้ เช่น การวางแผนทำอาหารเองแทนการซื้อ การใช้ขนส่งสาธารณะ
- ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ประหยัดขึ้น
ลองชะลอการซื้อของชิ้นใหญ่ที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนกิจกรรมที่ต้องเสียเงินไปทำกิจกรรมฟรีๆ
สร้างรายได้เพิ่ม
การประหยัดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในยามเศรษฐกิจถดถอย การหารายได้เสริมและปกป้องแหล่งรายได้ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ
- หารายได้เสริม
ลองมองหาโอกาสในการรับจ๊อบฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ หรือทำงานพาร์ทไทม์ที่ถนัด การมีแหล่งรายได้มากกว่าหนึ่งทางจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้
- ลงทุนในตัวเอง
อย่าหยุดเรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
- ตรวจสอบการลงทุน
หากมีการลงทุนอยู่แล้ว ลองกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน และหลีกเลี่ยงการขายสินทรัพย์เพราะความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ตลาด ให้เน้นเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเสมอ
เก็บเงินในที่ดอกเบี้ยดี
ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การจะหาที่เก็บเงินที่ให้ดอกเบี้ยสูงไปพร้อมกับการรักษาสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญมากๆ
- บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะมีความปลอดภัยสูงและถอนได้ง่าย ลองเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ดูว่ามีขั้นต่ำในการฝากหรือมีค่าธรรมเนียมรายเดือนหรือไม่
- เงินฝากประจำ
หากมีเงินก้อนที่ยังไม่มีแผนจะใช้ในระยะเวลาอันใกล้ การฝากประจำก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป และยังให้ผลตอบแทนที่แน่นอน
- สินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ
ในช่วงที่ตลาดผันผวน การลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ทองคำ หรือพันธบัตรรัฐบาล ก็เป็นทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินต้นได้
ข้อควรระวัง: แม้อัตราดอกเบี้ยสูงจะน่าสนใจ แต่ต้องระวังอย่าลงทุนแบบเสี่ยงเกินไปเพียงเพราะหวังผลตอบแทนสูง เพราะอาจสูญเสียเงินต้นได้ง่ายในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอน
กำจัดหนี้ดอกเบี้ยสูง
เช่น หนี้บัตรเครดิต ถือว่าอันตรายมาก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจผันผวน หากรายได้ลดลง หนี้เหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่อาจทำให้ติดหล่มทางการเงินได้ การลดหรือปลดหนี้ให้เร็วที่สุดจะช่วยให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และหายใจได้โล่งขึ้น
- เริ่มจากหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน
มุ่งเป้าไปที่การชำระหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยโดยรวม
- พิจารณารวมยอดหนี้ หรือโอนหนี้
หากมีหนี้หลายก้อน ลองพิจารณารวมยอดหนี้เข้าด้วยกัน หรือโอนหนี้ไปบัตรเครดิตที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและลดดอกเบี้ย
- งดสร้างหนี้ใหม่โดยไม่จำเป็น
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้วงจรหนี้กลับมาซ้ำอีก
ตรวจสอบสวัสดิการที่มี
ใช้สิทธิประโยชน์จากที่ทำงานให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือโปรแกรมออมเงินฉุกเฉินต่างๆ เช่น ฝากสหกรณ์ของบริษัท
อย่ารอให้วิกฤตมาถึงตัวถึงจะเริ่มลงมือทำ การเริ่มต้นวางแผนวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ ก็ตาม จะสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับอนาคตทางการเงินได้