“เฉลิมชัย” แจงยิบ หลังส่งชื่อ รมต. ไม่ผ่านมติ กก.บห.พรรค
พรรคประชาธิปัตย์ 16 ก.ค.-“เฉลิมชัย” แจงยิบ ยันทำตามข้อบังคับ หลังส่งชื่อรัฐมนตรี ไม่ผ่านมติ กก.บห.พรรค ชี้ชัดมติร่วมรัฐบาล 2567 ให้อำนาจหัวหน้าพรรคแล้ว ปัดรวบอำนาจ มีช่อง “งดเว้นข้อบังคับ” แต่ไม่ทำ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงกระบวนการตัดสินใจสำคัญของพรรคเกี่ยวกับการเข้าร่วมรัฐบาลและการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ อย่างละเอียด หลัง นต.สุธรรม ระหงส์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่น กกต. ว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ผ่านมติที่ประชุมร่วม ว่า การประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่มีมติให้เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งมติดังกล่าวยังคงสมบูรณ์อยู่ โดยเมื่อสถานการณ์การเมืองมีความเปลี่ยนแปลง และมีกระแสข่าวเกิดขึ้น ตนได้เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 19 มิถุนายน เพื่อหารือ “สถานการณ์ทางการเมือง” ไม่ใช่เพื่อลงมติเปลี่ยนการเข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด
“ผมพูดถึง 3 ครั้งนะครับ แล้วก็เอาหนังสือเรียกประชุมมาให้ดูว่าไม่ได้เรียกเพื่อลงมติ เพราะรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร นายกรัฐมนตรี ยังเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิม แม้จะมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน แต่เมื่อมีการเสนอว่าอยากทราบความเห็นของกรรมการบริหาร พรรคก็มีฉันทามติออกมาเช่นเดียวกับแถลงการณ์เดิมที่ให้ร่วมรัฐบาลต่อไป”
นายฉลิมชัย ยังได้กล่าวถึงข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ หมวด 26 ข้อ 134 ที่ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคสามารถใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อ “ยกเว้นข้อบังคับ” ใดข้อบังคับหนึ่งได้ ซึ่งหมายความว่าสามารถดำเนินการโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนบางอย่างได้ แต่ตนเลือกที่จะไม่ใช้ช่องทางนี้
ผมต้องการให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น ต้องการฟังเสียงทุกคน ผมจะไม่ใช้ข้อบังคับข้อนี้ ผมสามารถจะขอเสียง กรรมการบริหารได้เลยนะครับว่า ผมจะใช้ข้อบังคับนี้ยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งยกเว้นก็คือไม่ต้องดำเนินการนะครับ แต่ผมไม่ทำ” พร้อมย้ำ ถึงเจตนาที่ต้องการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส
ส่วนการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งในพรรค นายเฉลิมชัย ชี้แจงว่า ตนและนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามมติเดิมไป และได้แจ้งให้ สส. รับทราบผลการตัดสินใจแล้ว พร้อมส่งรายชื่อไปยังนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการดำเนินการของพรรคไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลแต่อย่างใด
สำหรับข้อท้วงติงจากบางฝ่ายที่มองว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง และขอให้แก้ไข ตนมั่นใจในความถูกต้องของการดำเนินการ และได้มีการพูดคุยกันถึงการยื่นตีความข้อบังคับได้กับคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่ง
ท้ายที่สุด เพื่อให้เกิดความสบายใจและเป็นเอกภาพของทุกฝ่าย แม้จะมีกรรมการบริหารเพียง 1-2 คนที่อาจเข้าใจผิด ตนจึงได้เรียกประชุมอีกครั้งเพื่อให้มีการ “ให้สัตยาบัน” ว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้นถูกต้อง ซึ่งการให้สัตยาบันนี้ “ไม่ใช่ให้สัตยาบันในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจของกรรมการบริหารทุกคน และเป็นการย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์เดินตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัดเสมอมา.-312.-สำนักข่าวไทย