เอสเอ็มอีไทย หนุน ครม.อิ๊งค์ 1/2 หวังเป็นที่พึ่งฝ่าวิกฤตศก. แนะ 9 เครื่องยนต์เร่งประเทศ
เอสเอ็มอีไทย หนุน ครม.ใหม่ ‘แพทองธาร’ หวังเป็นที่พึ่งฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ แนะ 9 เครื่องยนต์เร่งประเทศ
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่มีความคืบหน้าล่าสุดในการปรับคณะรัฐมนตรี (ปรับ ครม.) ซึ่งตนก็ได้ติดตามข่าวสาร และ ดูภาพรวมของการปรับสมาชิกรัฐมนตรีในหลายกระทรวง โดยในมุมมองของตน ตนมองว่า การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีในการจัดกำลังคนใหม่ ให้มีความเหมาะสม เพื่อบริหารจัดการราชการแผ่นดินขับเคลื่อนประเทศชาติให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในทุกมิติ คล้ายๆกับการปรับโครงสร้างของบุคลากรในองค์กรใหม่
นายแสงชัย กล่าวว่า การปรับ ครม. รอบนี้ตนเห็นว่า มีสมาชิกที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ หรือ หน้าใหม่เข้ามา ซึ่งการที่รัฐสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทันสมัยและความรวดเร็วในการทำงานบวกกับยังคงรวมนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ และประชาชนชื่นชอบให้เข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลนั้น จะทำให้โฉมหน้า ครม. ชุดใหม่ที่จะเห็นขณะนี้ อาจจะเป็นความหวังและที่พึ่งให้ประชาชนในการฝ่าวงล้อมวิกฤตเศรษฐกิจที่ถาโถมด้วย
นายแสงชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ กำลังเจอกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งกำลังซื้อลดลง ต้นทุนเพิ่ม หนี้ ขาดสภาพคล่องทุนหมุนเวียน รายได้ไม่พอรายจ่าย กำแพงภาษีสหรัฐ สังคมที่มีความเปราะบางทั้งสังคมผู้สูงวัย ปัญหายาเสพติด ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงความมั่นคงภายในประเทศกับปัญหาความไม่สงบจากผู้ก่อการร้ายชายแดนใต้ และปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีโอกาสขยายวงกว้างในทุกขณะ
นายแสงชัย กล่าวว่า ดังนั้น สำหรับภารกิจสำคัญที่ ตนในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ ตัวแทนของประชาชนผู้ที่เป็นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย มีความต้องการให้รัฐบาลให้เร่งเครื่องยนต์ประเทศ 9 ข้อ ดังนี้
1.สำหรับความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐต้องฃสร้างมาตรการสร้างความมั่นคงประเทศ ยุทธศาสตร์ “ชนะสงครามโดยมิต้องรบและสูญเสีย” เตรียมความพร้อมของกองทัพ การเจรจาด้วยสันติวิธี และแผนบริหารจัดการสภาวะวิกฤติฉุกเฉินที่จะส่งผลกระทบในแต่ละด้าน ความปลอดภัย เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แรงงาน ด้วยกลไกมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม (Crisis Management)
2.สำหรับมาตรการรองรับการเจรจากำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีแผนรองรับปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและธุรกิจใน Supply Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่าอุปทาน) ทั้งหมดให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
3.เน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพจเกจมุ่งเป้า ในการเพิ่มกำลังซื้อและยกระดับผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากเข้าระบบเพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นภาคการค้าปลีกและค้าส่ง ภาคการผลิตและส่งออก ภาคธุรกิจเกษตร ภาคบริการและท่องเที่ยว การส่งเสริมขยายตลาดให้เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนยกระดับการค้าออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์และเทคนิคการขาย การตลาดร่วมด้วย
4.เพิ่มมาตรการลดต้นทุน ลดค่าครองชีพประชาชนและผู้ประกอบการ อาทิ การกระจายส่งเสริม สนับสนุนโซล่าร์ฟาร์มชุมชน โซล่าร์ครัวเรือนและ เอสเอ็มอี กระจาย ราคาพลังงานน้ำมันที่เป็นธรรม การลดค่าโดยสารสาธารณะและรถไฟฟ้า เป็นต้น
5.เพิ่มมาตรการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และใช้กลไกสถาบันการเงินรัฐเพ่ิมขึ้นในการเพิ่มการเข้าถึงควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน การเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ AI ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย นอกจากนั้นต้องมีกระบวนการแก้ไขหนี้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน สร้างวินัยทางการเงินโดยใช้ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ตระหนักรู้และปรับตัวสร้างโอกาสฟื้นฟูประชาชนและเอสเอ็มอีช่วยกันแกะกับดักหนี้เสียและหนี้นอกระบบด้วยกลไกที่มีเจ้าภาพ บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง
6.มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและ เอสเอ็มอี “สร้างคนให้เป็นพลังแผ่นดิน” ในการพัฒนาทักษะเดิม และ การสร้างทักษะใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจใหม่ การเร่งส่งเสริมให้เกิด ESG เอสเอ็มอีด้วยทักษะทางดิจิทัล ทักษะการใช้เครื่องมือโซเชี่ยลมีเดีย และ AI ทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน การตอบโจทย์ด้วยแพลตฟอร์มอัจฉริยะประเทศเพื่อการพัฒนากำลังคนทุกระดับ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัยและการจับคู่งานให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมและมีสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
7.มาตรการเชื่อมโยงโอกาสธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก การเร่งเจรจา FTA ที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุน สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น การเร่งขยายกลไกจับคู่ธุรกิจไทยและต่างประเทศให้เกิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น การเร่งการปรับตัวให้เกิด PPP เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ e-commerce platform ของประเทศไทย
8.เข้มมาตรการแก้ปัญหา อุปสรรคกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่อำนวยความสะดวกและเป็นกับดักของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีเจ้าภาพและผู้ประกอบการ ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างรอบด้าน รอบครอบ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
และ 9.การเข้มมาตรการแก้ปัญหาทุนเทา เศรษฐกิจนอกระบบที่มีคนไทย ต่างชาติและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเข้าไปเกี่ยข้อง การบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามธุรกิจนอมินีแข่งขันไม่เป็นธรรมผู้ประกอบการไทย สินค้าไร้มาตรฐาน สินค้าหนีภาษี ธุรกิจศูนย์เหรียญที่ทำลายระบบเศรษฐกิจไทย
นายแสงชัย เผยว่า ประเทศไทยต้องการคนมีความรู้ความสามารถ มีธรรมาภิบาลที่ต้องมาพร้อมกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนและการทำงานเป็นทีมในแบบฉบับ “รัฐบาลผสม” ที่มีผู้นำเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างเข้าใจ และต้อง “ทำถึง” ให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก
การที่รัฐบาลอยู่สั้นหรืออยู่ยาวไม่สำคัญเท่ากับอยู่แล้วทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประเทศได้บ้าง และ อะไรที่สุ่มเสี่ยงสร้างความขัดแย้งนั้น “อย่าทำ” ต้องมุ่ง “สร้างความรู้รักสามัคคีให้คนในชาติ” สร้างเกราะคุ้มครองอย่างมีภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย การปรับ ครม.
“เลือกคนที่ใช่ ให้ทำงานที่ชอบ พร้อมตอบโจทย์ประชาชน” นายแสงชัย กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เอสเอ็มอีไทย หนุน ครม.อิ๊งค์ 1/2 หวังเป็นที่พึ่งฝ่าวิกฤตศก. แนะ 9 เครื่องยนต์เร่งประเทศ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th