ทำไม ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องเป็น “วิทัย รัตนากร”
ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ "วิทัย รัตนากร" ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่แทน "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบันที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 30 กันยายน 2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ตามที่ "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเสนอ
โดยให้เหตุผลที่เสนอตั้ง "วิทัย" เป็นผู้ว่า ธปท.คนใหม่ เนื่องจากพิจารณาแล้วมี 3 เหตุผลหลักสนับสนุนคือ 1. เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ 2. มีประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร 3. มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
หากพิจารณาถึง 2 แคนดิเดตที่เข้ารอบสุดท้ายที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งชื่อให้ รมว.คลังเคาะเลือกคนใดคนหนึ่งเพื่อนำเสนอ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติครั้งนี้ คือ วิทัย รัตนากร ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ซึ่งทั้ง 2 ท่านล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีคุณสมบัติเหมาะสมและมีผลงานเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธปท.ได้ทั้งคู่!!!
ดร.รุ่งความรู้ครบเครื่อง
โดย ดร.รุ่ง นั้น ถือเป็น "ลูกหม้อ" ของ ธปท.จบ ดร.ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญประสบการณ์การทำงานกับ ธปท.มานานกว่า 20 ปี ผ่านงานในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นหัวใจของ ธปท. ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงิน การชำระเงิน และการกำกับสถาบันการเงิน โดยร่วมออกมาตรการวางนโยบายรับมือภาวะวิกฤติของประเทศมาหลายรอบ ถือว่าครบเครื่องทำงานครบทุกด้าน!!
โดยผลงานโดดเด่นนั้น ดร.รุ่ง เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกรอบ “3 Opens” ได้แก่ Open Competition การให้ใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banks), Open Infrastructure ส่งเสริมการเชื่อมต่อที่ราบรื่นภายในระบบการเงิน และ Open Data อำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูลที่ปลอดภัยและอิงตามความยินยอม (ผ่านโครงการ “Your Data”) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ระบบการเงิน
รวมถึงการดำเนินโครงการ “Thai Financial Landscape” ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินใหม่สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ และยังมีบทบาทในการขับเคลื่อน “แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
รวมถึงการดำเนินมาตรการแก้ไขหนี้ต่างๆ เช่น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นโครงการการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ การจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ และโครงการรวมหนี้
"วิทัย" ความสามารถรอบด้าน
ขณะที่ "วิทัย" เองก็ "รอบด้าน" มีประวัติการทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ก่อนมาดูแลสินเชื่อและการแก้หนี้ที่ธนาคารกรุงเทพ และไปเป็น Fund Manager ให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จากนั้นไปเป็น CFO สายการบินนกแอร์ ก่อนมานั่งเป็นรอง ผอ.ธนาคารออมสิน และถูกส่งตัวไปช่วยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยนั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ จากนั้นกลับมานั่งรอง ผอ.ธนาคารออมสินอีกครั้ง ต่อมาถูกเลือกให้เป็นเลขาธิการกองทุน กบข. และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน โดยรับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 ก่อนที่จะลาออกไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา หลัง ครม.มีมติแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธปท.
ผลงานประจักษ์
ตลอดเวลาที่ "วิทัย" นั่งเป็น ผอ.ธนาคารออมสิน ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นเอาไว้มากมายโดยเฉพาะการเปลี่ยนบทบาทของธนาคารออมสิน มาเป็นธนาคารเพื่อสังคมและการทำงาน "เชิงรุก" โดยออกโครงการต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนตัวเล็ก ผู้ประกอบการรายย่อย SME ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งช่วยแก้หนี้ให้คนไทยและผู้ประกอบการที่เดือดร้อนอย่างหนักในช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้ลืมตาอ้าปากได้จำนวนหลายล้านคน
ที่สำคัญยังเป็น "ผู้นำ" ในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการบริโภค และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จนทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อ non-bank ต้องลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อเพื่อการบริโภคลดลงมาเป็นลำดับ
ข้อมูลจากธนาคารออมสิน ระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้หนี้ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนไปมากกว่า 18 ล้านคน!! ขณะที่ธนาคารออมสินยังสามารถสร้างผลกำไรได้ตลอดทุกปี นำส่งรายได้เข้ารัฐได้สูงถึงปีละ 23,000 ล้านบาท และยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมีเงินสำรองเพิ่มจาก 70,000 ล้านบาท เป็น 136,000 ล้านบาทได้!!
เรียกว่า ไม่ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าการ ธปท. ใน 2 คนนี้ ถือว่าเหมาะสมและคู่ควรกับตำแหน่ง และเชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ท่านนี้ จะทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดประเทศชาติและระบบการเงินของประเทศ
ทำไมผู้ว่า ธปท.ต้องเป็น "วิทัย"
ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการคัดสรร ผู้ว่า ธปท.โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายที่รายชื่อ 2 คนสุดท้ายถูกส่งมาที่ รมว.คลังนั้น มีความพยายามสร้างกระแสแสดงความกังวลว่า "วิทัย" ถือเป็นคนที่ถูกส่งมาจากฟากฝั่ง "การเมือง" มาเพื่อทำงานตอบสนองรับใช้รัฐบาล "รับใช้การเมือง" ที่จะทำให้ "แบงก์ชาติ" ถูกแทรกแซงการทำงานหรือการตัดสินใจที่ไม่เป็นอิสระจากการเมืองหรือรัฐบาล
เพราะปัจจุบันนั้น มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท.ที่กระทรวงการคลังต้องการให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหวังใช้นโยบายการเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หลังรัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังจนหมดหน้าตักแล้ว แต่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นได้เท่าที่ควร
ส่วน ธปท.ก็มีเหตุผลที่ต้องมองปัจจัยให้รอบคอบ รอบด้าน และคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น!!
ขณะที่ "วิทัย" ตลอดระยะเวลาที่นั่งเป็น ผอ.ธนาคารออมสินนั้น ได้ออกมาตรการหลายโครงการเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ในการช่วยลูกหนี้ ดูแลประชาชนและ SME
ตอบโจทย์รัฐบาล-เป้าหมายเดียวกัน
ที่สำคัญ "วิทัย" ได้ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย คือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำสุด ๆ เพื่อนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีกำลังจ่ายหนี้และมีเงินเหลือให้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานราก ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจซบเซาซึมยาว จีดีพีโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำมายาวนาน ภาคการเงินมีเสถียรภาพมาก แต่เศรษฐกิจภาคครัวเรือน ธุรกิจ ขยายตัวต่ำ รายได้ต่ำ และมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน ความยากจน และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ นักท่องเที่ยวลดลง ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ เป็นต้น
จึงต้องเร่งเครื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ประชาชนจะมีรายได้ ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหนี้ครัวเรือน การกระจายรายได้ได้ดีขึ้น และที่สุดจะทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับรัฐบาล!!
เลือก “วิทัย” ได้ “ดร.รุ่ง” ด้วย
การเลือก "วิทัย" มาเป็นผู้ว่าการ ธปท.ในห้วงเวลานี้ จึงตอบโจทย์รัฐบาลได้ตรงจุดที่สุด ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ ดร.รุ่ง มาช่วยทำงานเพราะแม้จะไม่ได้รับการเลือกว่าเป็นผู้ว่า ธปท. แต่ความเชื่อมั่นว่า ดร.รุ่งจะยังคงใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา ทำหน้าที่ ทำงานให้กับ ธปท.และประเทศชาติและเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะหากได้นำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของทั้ง ดร.รุ่งและ "วิทัย" มาประสานและผนึกกำลังกัน รวมทั้งผู้บริหารและคนแบงก์ชาติ เชื่อมั่นว่าจะสามารถประสานความคิด ออกนโยบายการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติได้อย่างดีที่สุด ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงรอบด้านที่คาดไม่ถึง
ขณะเดียวกัน "วิทัย" เองก็ต้องพิสูจน์ฝีมือกับบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งสร้างการยอมรับจากคนแบงก์ชาติที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งประเด็นนี้ไม่น่ายากสำหรับ "วิทัย" ที่ผ่านการทำงานกับองค์กรต่างๆ มามากมาย มีพี่-เพื่อน-น้องระดับผู้บริหารหลากหลาย
ที่สำคัญต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า แม้จะได้รับการแต่งตั้งจากการเมือง แต่เขาได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของระบบการเงิน เศรษฐกิจ ประเทศชาติ และรักษาความเป็นอิสระของ "องค์กรธนาคารชาติ" แห่งนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีไม่ได้มาเพื่อรับใช้การเมือง อย่างที่โดนปรามาส….!!
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทำไม ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องเป็น “วิทัย รัตนากร”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “พิชัย”ย้ำชงครม.วันนี้เคาะผู้ว่าธปท.ใหม่ วงในชี้“วิทัย”ยังเต็งหนึ่งไม่มีพลิกล็อคแน่
- รอเคาะผู้ว่าธปท.คนใหม่ 22 ก.ค เอกสารตรวจคุณสมบัติไม่ครบ ชื่อ“วิทัย”ยังไม่เข้าครม.
- เลขาฯ ครม. เผยยังไม่เห็นประวัติ “จักรภพ” รวมถึงเอกสารชงผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่
- ประวัติ วิทัย รัตนากร ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่
- ”วิทัย” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ “พิชัย” หวังมาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-หนี้
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath