(ไม่) เท่าทัน BRN
เสือตัวที่ 6
กลุ่มคนที่กำลังต่อสู้กับรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชในการปกครองตนเองในพื้นที่ปลายด้ามขวานนั้น แน่นอนว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ มีการจัดโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนซึ่งซ้อนทับกับโครงสร้างการปกครองของรัฐตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด สู่พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นรัฐปาตานีแต่เดิม มีการแบ่งกลุ่มแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ทั้งกลุ่มต่อสู้ทางการเมือง กลุ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธ (การทหาร) กลุ่มดำเนินการทางเศรษฐกิจการงบประมาณ มีแผนยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ หากแต่กลยุทธ์การทำสงครามในพื้นที่จะผันแปรไปตามสถานการณ์ในแต่ละสนามรบ บนพื้นฐานของการสร้างมวลชนแนวร่วมในหมู่บ้านอย่างเป็นระบบและแข็งแกร่ง มุ่งสู่การได้มาซึ่งอำนาจรัฐในพื้นที่แห่งนี้มาเป็นของขบวนการร้ายแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ในทางกฎหมายพวกเขาจะยังไม่ได้อำนาจรัฐในพื้นที่ถึงขั้นประกาศเอกราชได้ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ขบวนการสามารถควบคุมพื้นที่ปลายด้ามขวานได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โดยมีตัวบ่งชี้คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องคอยระวังตัวเองทุกฝีก้าว และไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้โดยอิสระ ขาดการให้ความร่วมมือจากพี่น้องมวลชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ในขณะที่กลุ่มคนในขบวนการร้ายแห่งนี้สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างอิสระ มีเสรีในการปฏิบัติใดๆ ได้อย่างเต็มที่ ด้วยมีมวลชนให้การสนับสนุนขบวนการอย่างเต็มที่ในทุกย่างก้าวของการต่อสู้
องค์กรอาชญากรรมมีความกล้าแข็งจนพวกเขาฮึกเหิมในการก่อการร้ายใดๆ ได้อย่างอหังการ การโจมตีฐานปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธของรัฐครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ประชาชนคนใดไม่ให้ความร่วมมือกับขบวนการหรือเป็นพี่น้องที่ต่างศาสนาก็จะตกเป็นเป้าหมายในการสังหารอย่างเลือดเย็นโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องเหล่านั้นตลอดจนไม่สามารถรักษากฎหมายได้โดยสิ้นเชิง การเข่นฆ่าผู้คนเป็นว่าเล่นตามอำเภอใจด้วยความลำพองใจ ทำให้คนในขบวนการร้ายแห่งนี้ผันแปรปรับตัวไปจนกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกทีโดยที่รัฐไม่อาจขัดขวางได้ และกลุ่มขบวนการร้ายแห่งนี้มีกลุ่ม BRN ที่ยังกล้าแข็งมากขึ้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มุ่งประสงค์ชัดเจนในการแย่งยึดดินแดนไปเป็นการปกครองของตนเองอย่างเป็นอิสระ มีกฎหมายเป็นของตนเองที่กำลังถูกเรียกร้องจากแนวรบในสภาให้พวกเขามีกฎหมายอิสลามในการปกครองกันเอง มีภาษาเป็นของตนเอง และที่สำคัญคือมีกองกำลังทหาร (กองกำลังติดอาวุธ) ของตนเอง
หากแต่กระบวนการเหล่านั้นมิได้หยุดอยู่กับที่ ขบวนการขององค์กรอาชญากรรม BRN ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดตามห้วงเวลา ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่กระนั้น นักวิชาการ ฝ่ายความมั่นคงของรัฐส่วนใหญ่ยังติดกับดักของกระบวนทัศน์ที่มองและเข้าใจ BRN อย่างเหนียวแน่น จนเป็นห้องขังทางความคิดที่ยากจะหลุดกรอบเหล่านั้นออกมามองและเข้าใจ BRN ใหม่อย่างเท่าทัน ปรากฏการณ์ของการคัดง้างทางความคิด โต้แย้งทางความเห็น สวนทางกันในวิธีการในการต่อสู้กับ BRN ของฝ่ายรัฐจึงสับสนอลหม่าน หาจุดลงตัวให้เป็นแนวเดียวกันไม่ได้ ส่งผลให้รัฐขาดเอกภาพในความพยายาม ขาดพลังในการต่อสู้กับ BRN มาจนถึงทุกวันนี้ โดยปรากฏการณ์นี้สะท้อนออกมาจากนักวิจัยชาวเยอรมนีผู้ซึ่งเคยทำวิจัยเรื่องการถอดรหัสความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย: การจัดองค์กรและการปฏิบัติการของกลุ่ม BRN-แนวร่วม ได้ชี้ว่า ความเข้าใจของนักวิชาการและฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ว่า BRN ยังดำเนินการแบบสองฝ่าย การเมือง กับการทหาร เป็นรูปแบบเก่า แต่แท้ที่จริงแล้วมีการรวมศูนย์ที่สภาซูรอซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดและสภาองค์กรนำ ซึ่งเป็นสภาระดับสูง โดยมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งหมดของ BRN ขบวนการ BRN ปรับองค์กรนำในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐโดยมีสภาซูรอเป็นผู้กำหนดเป้าหมายหลักเรื่องการได้มาเอกราช ด้านอุดมการณ์ และด้านศาสนา ส่วนสภาองค์นำจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งสภาซูรอและสภาองค์กรนำ (DPPP) นี้ดำเนินการร่วมกันอยู่ในมาเลเซีย และสามารถสั่งการได้ทั้งด้านการบริหารและปฏิบัติการในทุกด้านไปยังพื้นที่ จชต. โดยสภาบริหารกลาง (DPP) จะบริหาร 4 สภาบริหารจังหวัด (DW) แต่ละสภาบริหารจังหวัด บริหาร 8-13 สภาบริหารอำเภอ แต่ละสภาบริหารอำเภอ บริหาร 3-5 สภาบริหารตำบล ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ และมีส่วนของกองกำลังติดอาวุธ สั่งการก่อเหตุร้ายใน 4 เขตทหาร แต่ละเขตทหาร มี 2 เขตย่อยทหาร แต่ละเขตย่อยมี 2 พื้นที่ แต่ละพื้นที่มี 3 หมวด รวม 48 หมวด ซึ่งในปัจจุบันของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้คำนึงถึงลักษณะของ BRN ในฐานะองค์กรลับ และมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า BRN ไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นที่ก่อความไม่สงบขึ้นเองโดยอิสระ หากแต่การก่อเหตุทุกครั้งมีการสั่งการในระดับสูงขององค์กรอาชญากรรม BRN ตามท่วงทำนองของการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในสภาและในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
โครงสร้างการจัดขององค์กรอาชญากรรม BRN การบริหารจัดการการต่อสู้ ยุทธศาสตร์ ตลอดจนยุทธวิธีการสู้รบของ BRN แปรเปลี่ยนไปตามห้วงเวลาและสถานการณ์ที่พวกเขาได้เปรียบ พร้อมๆ กับการดำเนินการหล่อหลอมขยายฐานมวลชนในพื้นที่เป็นหนึ่งเดียวกับขบวนการได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่รัฐยังไม่สามารถปรับมุมมองต่อ BRN ได้เป็นปัจจุบัน ต่างคนต่างสำนึกคิดก็มีมุมมองอันสุดโต่งและวิธีการต่อสู้กับ BRN ที่แตกต่างกันอย่างยากที่จะผสานความเห็นต่างเหล่านั้นได้ การเจรจาสันติภาพจึงไม่ถูกผสานเข้ากับยุทธศาสตร์การต่อต้านการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุกในการต่อต้านรัฐเงาของ BRN ตลอดจนขาดเอกภาพทางความคิด ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐไม่รู้เท่าทันวิธีคิดอันชาญฉลาดของ BRN นั่นเอง