MIND: เพราะอะไร… คนที่เคยถูกเท ถึงกลายเป็น ‘มือเท’ เสียเอง? งานวิจัยสหรัฐฯ เผย สาเหตุของ ‘วงจรเจ็บซ้ำ’ ในความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่
เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบเหตุการณ์ ‘อยู่ดีๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ’ หรือ การหายไปของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่บอกกล่าว ที่ใครหลายคนเรียกมันว่าการ‘Ghosting’ สิ่งนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ‘ผี’ ที่คอยหลอกหลอน เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จับต้องไม่ได้ แต่ทิ้งความกลัวบางอย่างไว้กับเราได้อย่างชัดเจน
ไม่ต่างจากคนคุยที่หายไปแล้วทิ้งไว้แค่เพียงความเจ็บปวด การ Ghosting ถูกมองเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีนักในสายตาของใครหลายคน แต่เชื่อหรือไม่ว่า งานวิจัยล่าสุดจากสถาบัน Thriving Center of Psychology ชี้ว่า การ ‘Ghosting’ กำลังกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่ม Gen Z และ กลุ่ม Millennials ทั้งยังชี้ว่ากลุ่มคนที่ถูก Ghosting อาจกลายเป็นผู้ Ghosting ใส่คนอื่นเสียเอง
โดยนักวิจัยได้ทำการสำรวจและตั้งคำถามกับกลุ่ม Gen Millennials และ Gen Z กว่าพันคน แล้วพบว่า กว่า 84 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์ถูก Ghosting และ 67 เปอร์เซ็นต์ ได้ผันตัวไปเป็นคน Ghosting ใส่คนอื่นเสียเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?
นักวิจัยชี้ว่า ในปัจจุบันกลุ่ม Gen Z และ Millennials เกือบทุกคนมีประสบการณ์ดังกล่าว และส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดีเวลาพบเจอกับประสบการณ์นี้ เพราะมักจะมีความรู้สึกแย่ๆ ตามมา อย่างเช่นความรู้สึกสับสน เศร้า หรือความมั่นใจในตัวเองลดต่ำ แต่กระนั้น 3 ใน 4 ของกลุ่มนี้ก็คิดว่า การโกสต์นั้นอาจเหมาะสมในบางกรณี และกลายเป็นว่าเกือบ 2 ใน 3 กลายเป็นผู้ Ghosting ใส่คนอื่นโดยนักวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การ Ghosting กันไปกันมา’ (reciprocal ghosting)
ดร.อเล็กซานเดอร์ อัลวาราโด (Alexander Alvarado) หนึ่งในทีมวิจัยให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “อัตราการ Ghosting กันไปกันมาที่เพิ่มสูงนี้ มาจากรูปแบบทางอารมณ์ที่เป็นวัฏจักร เพราะเมื่อบุคคลหนึ่งๆ ประสบกับความรู้สึกไม่ดีหลังจากถูก Ghosting พวกเขาอาจใช้สิ่งนี้มาเป็นกลไกในการป้องกันตัวเองโดยไม่รู้ตัว ผ่านการคิดว่า การเป็นฝ่ายเลิกคุยหรือเลิกสนใจก่อน มันดีกว่าที่จะไปเสี่ยงถูกทำร้ายจิตใจหรือผิดหวังในภายหลัง”
งานวิจัยยังชี้อีกว่า กลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะ Ghosting มากกว่าคนรุ่น Millennials ด้วยเหตุผล 6 ข้อ ได้แก่
- ไม่สนใจในฝ่ายตรงข้ามแล้ว 64 เปอร์เซ็นต์
- ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า 56 เปอร์เซ็นต์
- ความเครียดหรือความคาดหวังที่มากเกินไป 44 เปอร์เซ็นต์
- รู้สึกว่าความสัมพันธ์ไม่แข็งแรง 41 เปอร์เซ็นต์
- ถูกคุกคาม 39 เปอร์เซ็นต์
- ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต 29 เปอร์เซ็นต์
ทั้งยังพบว่า ผู้คนจำนวนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าการ Ghosting เป็นเรื่องเหมาะสมในบางสถานการณ์ และ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ตนรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะรู้สึกผิดหวังจากการโกสต์ใส่คนอื่น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยท่านหนึ่งในทีมก็ได้ฝากข้อคิดเล็กๆ ไว้ว่า “ไม่ว่าจะเจออะไรมาก็ตาม สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะสื่อสารให้ดี แม้ว่าเราจะไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ขอให้เชื่อมั่นว่าเราเป็นคนจริงใจก็พอ”