อยากเก่งแซงหน้า AI ต้องอัป 5 สกิลนี้ด่วน! คำเตือนจาก ม.สแตนฟอร์ด
โลกการทำงานยุค AI ในวันนี้ คงไม่มีใครมานั่งถามกันแล้วว่า “เอไอจะกระทบงานคุณไหม? กระทบงานไหนบ้าง?” แต่จะเปลี่ยนเป็นถามว่า “คุณพร้อมจะอยู่รอดและเติบโตไหม” ผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เผยผลวิจัยจากผู้นำ 400 คนทั่วโลก จนได้ผลลัพธ์สรุปออกมาว่า มี 5 ทักษะที่วัยทำงานมืออาชีพยุคใหม่ต้องเร่งพัฒนาและอัปสกิลตัวเอง หากไม่อยากตกขบวน!
เนื่องจากทุกวันนี้ เทคโนโลยีเอไอได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างรวดเร็ว หลายอุตสาหกรรมกำลังถูกเขย่า บทบาทงานเดิมๆ กำลังถูกแทนที่ และความสามารถในการ "ปรับตัว" กลายเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งกว่าความรู้เฉพาะทางที่คุณเคยมี
จัสติน เบอร์เกนส์ติน (Justin Bergenshtein) อาจารย์ประจำ Stanford Graduate School of Business และผู้เขียนหนังสือ The Systems Leader ใช้เวลากว่า 23 ปี ในการศึกษา "เส้นทางความสำเร็จ" ของผู้นำกว่า 400 คนทั่วโลก เพื่อหาคำตอบว่า “อะไรคือทักษะสำคัญที่ทำให้มืออาชีพสามารถอยู่รอดและเติบโตในยุค AI?”
ในที่สุดเขาก็ได้ข้อสรุปออกมาเป็น 5 ทักษะหลัก ที่ “คนเก่ง” ยุคใหม่ต้องเร่งพัฒนาให้เฉียบคมยิ่งกว่าเดิม ซึ่งมีดังนี้
ทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต: เมื่อความรู้วันนี้ อาจล้าสมัยในปีหน้า
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในยุคแห่งความไม่แน่นอน ล้วนมีจุดร่วมที่ชัดเจนคือ “ไม่หยุดเรียนรู้” พวกเขาไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีที่ไม่เข้าใจ และไม่ขังตัวเองอยู่ใน comfort zone
“การเมินเทคโนโลยีที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้คุณกลายเป็นคนล้าสมัยโดยไม่รู้ตัว” จัสติน เตือนวัยทำงาน
วิธีฝึกฝนทักษะนี้อาจเริ่มจากการลงเรียนคอร์ส AI เข้าร่วมกลุ่มสนทนากับคนรุ่นใหม่ หรือเปิดใจฟังมุมมองจากคนต่างวัย ต่างสายอาชีพ เพื่อขยายวงการรับรู้ให้กว้างขึ้น
เสริมความแข็งแกร่งด้วยเหตุผล แต่อ่อนโยนด้วยหัวใจ
AI ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ดี แต่ยังขาดความเข้าใจแบบ “มนุษย์” ทั้งนี้ ทักษะมนุษย์ยังคงมีคุณค่า เป็นที่ต้องการ และเหนือกว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติ ก็คือ “ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และภาวะผู้นำที่สมดุล”
จัสตินยกตัวอย่าง Kathy Mazzarella ซีอีโอของ Graybar ที่ขึ้นชื่อเรื่องการบริหารด้วย “หมัดเหล็กในถุงมือกำมะหยี่” เธอถือหลักความเข้มงวดควบคู่ความเข้าใจ เช่น เมื่อมีพนักงานทำงานผิดพลาด เธอจะเริ่มจากการพูดคุยอย่างเปิดใจ มากกว่าตัดสินใจปลดทันที
บทเรียนคือ การเป็นผู้นำที่ดี ไม่ได้หมายถึงต้องเลือกระหว่างความทะเยอทะยานกับความเมตตา แต่ต้องรู้จักใช้ทั้งสองอย่างในเวลาที่เหมาะสม
คิดแบบ “ระบบนิเวศ” ไม่ใช่ “ไซโลแยกส่วน”
ในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน การเข้าใจบริบทกว้างรอบตัว (ecosystem thinking) คือทักษะที่จำเป็นมากกว่าการเก่งเฉพาะจุด ในกรณีนี้ จัสตินยกตัวอย่าง เซธ โบดนาร์ (Seth Bodnar) ประธานมหาวิทยาลัยมอนทานา (Montana University) ที่ต้องบริหารสมดุลผลประโยชน์ของหลากหลายฝ่าย ตั้งแต่นักศึกษา อาจารย์ รัฐบาล ผู้ปกครอง ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น
ความสำเร็จไม่ได้มาจากการคิดเป็นฝ่ายๆ แต่เกิดจากการเข้าใจว่า "ทุกฝ่ายเชื่อมโยงและส่งผลต่อกันอย่างไร"
หนึ่งในเครื่องมือที่เขาแนะนำ ก็คือ การวาด “แผนผังอิทธิพล” (influence map) เพื่อเห็นภาพว่าฝ่ายใดส่งผลต่อใคร และพึ่งพาใครอยู่บ้าง ช่วยให้การตัดสินใจซับซ้อนง่ายขึ้น
ลงทุนกับความสัมพันธ์ ภายในและภายนอกองค์กร
คนที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ ไม่ได้เก่งแค่เดี่ยว แต่เก่งเรื่อง “การเชื่อมโยง” กับคนรอบตัวเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เริ่มจาก ภายในองค์กร ควรทำความเข้าใจว่า พนักงานแต่ละฝ่ายมักเห็นปัญหาคนละมุม วิศวกรอาจเห็น pain point ของลูกค้าไม่เหมือนนักการตลาด ขณะที่พนักงานด่านหน้าอาจมองเห็นช่องโหว่ที่ผู้บริหารไม่เคยรู้
ขณะที่ ภายนอกองค์กร เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม เมนเทอร์ หรือแม้แต่ลูกค้า ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ เพราะพวกเขา “ไม่ติดกรอบวัฒนธรรมองค์กร” เหมือนคนในบริษัท ดังนั้น การมีเครือข่ายที่หลากหลาย คือเส้นทางสู่ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่มีในคู่มือใดๆ
อยู่กับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ปรับตัวไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกดดัน
“การปฏิวัติด้วย AI ไม่ใช่อนาคตไกลตัว แต่มันเกิดขึ้นแล้ว และเร็วมาก” จัสติน ย้ำ พร้อมกับยกตัวอย่างคำพูดของ คอรี แบร์รี (Corie Barry) ซีอีโอ Best Buy ที่เคยบอกกับนักศึกษา Stanford ว่า
“คุณต้องไม่หลงรักวิธีทำงานแบบเดิมของตัวเอง เพราะคนที่อยู่รอดในระยะยาว คือคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำมาทั้งหมด”
สิ่งที่คุณต้องหล่อหลอมไว้ในยุค AI ก็คือ ทักษะมนุษย์ ที่เครื่องจักรเลียนแบบไม่ได้, ความเข้าใจระบบอุตสาหกรรมที่คุณอยู่, ความกล้ารับความเปลี่ยนแปลง และ ความสัมพันธ์คุณภาพ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ช่วงท้ายจัสตินย้ำว่า ทักษะต่างๆ ข้างต้น หากวัยทำงานเร่งปรับตัวและฝึกฝนตั้งแต่วันนี้ ก็จะทำให้ “คนธรรมดา” กลายเป็นผู้นำในยุค AI ได้ในที่สุด ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนเร็วกว่าเดิมทุกวัน
อย่าลืมว่า..ความรู้ที่มีอาจไม่พออีกต่อไป สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันคือ “ทักษะในการอยู่รอดอย่างชาญฉลาด” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเอาตัวรอดคนเดียว แต่คือการเรียนรู้ เติบโต เชื่อมโยง และพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คนที่ “ยืดหยุ่นได้” ก็คือคนที่จะ “อยู่รอดได้” ตลอดทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง
อ้างอิง: CNBC Make it, The Systems Leader, influence-mapping tool