ศบ.ทก. เผยทูตไทยทำหนังสือชี้แจงเลขาฯยูเอ็นแล้ว ปมกัมพูชาโร่ฟ้อง UN
ศบ.ทก. แจง มาตรการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวในไทย ใบอนุญาตหมดอายุอยู่ต่อได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม ด้าน ทูตไทยนครนิวยอร์ก ทำหนังสือถึงเลขาธิการยูเอ็น ชี้แจงข้อเท็จจริงตอบโต้กัมพูชา
7 กรกฎาคม 2568 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะโฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) และนางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุม ศบ.ทก.
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า การรายงานผลการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 6 โดยยืนยันว่า ทาง สมช. มีมติมอบอำนาจให้ทาง ศบ.ทก.ดำเนินการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดตามแนวชายแดนให้คลี่คลายลง โดย ศบ.ทก.มีอำนาจเต็มในเรื่องของการกำหนดมาตรการ รวมไปถึงการเพิ่มมาตรการทางสถานการณ์เลวร้าย หรือผ่อนคลายมาตรการทางสถานการณ์ดีขึ้น โดยเน้นย้ำในเรื่องของการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร
ขณะเดียวกันที่ ประชุม สมช.ยังมีการกล่าวถึงการแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติ ให้มีมาตรการกดดันที่เข้มงวดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง ศบ.ทก.มีขอบเขตหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนในลักษณะเฉพาะกิจ โดยในมิติของงานปกติยังคงเป็นการทำงานของหน่วยงานตามสายงาน
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ตั้งแต่ 7 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน มีตัวเลขผ่อนปรนมาตรการผ่านเข้าออก โดยกลุ่มที่สามารถเดินทางเข้ามาฝั่งกองกำลังบูรพา มีบุคคลเข้าราชอาณาจักร 212,766 คน กลุ่มประชาชนเดินทางออกจากราชอาณาจักร 206,100 คน ฝั่งกองกำลังสุรนารีมีการเข้าออก 2,454 คน
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ศบ.ทก.พยายามจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ยืนยันว่า ศบ.ทก.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมหารือแนวทางในการผ่อนปรน โดยบูรณาการหารือกับผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าที่ผ่านมา 4 ก.ค. กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน จัดการประชุมบริหารจัดการของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยพิจารณาการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นกับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 โดยกระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาผ่อนผันแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตแต่หมดอายุและอยู่ในประเทศไทยอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆจนกว่าด่านชายแดนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และภายหลังด่านเปิดเป็นปกติให้คนต่างด้าวเหล่านั้นเดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายใน 14 วัน ขณะที่กระทรวงแรงงานจะออกมาตรการให้คนต่างด้าวสามารถยื่นคำขออนุญาตทำงานพร้อมเอกสารและหลักฐานการทำงานต่อในทะเบียนอนุญาต โดยสามารถทำงานได้ครั้งละ 90 วัน และต้องต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน คนต่างด้าวที่มีงานทำอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนนายจ้างและเพิ่มนายจ้างได้ 3 รายตลอดระยะเวลาในพื้นที่จังหวัดที่คนต่างด้าวนั้นได้รับอนุญาตทำงาน
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า จากผลการประชุมของคณะทำงานที่ผ่านมา กรมการจัดหางานจะนำผลการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในวันที่ 8 ก.ค. ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในโอกาสต่อไป โดยหากมีการประกาศของ ครม.จะมีผลย้อนหลังให้ถึงวันที่ 7 มิ.ย.68
นางมาระตี กล่าวว่า ตามที่ปรากฏรายงานข่าวในสังคมออนไลน์เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติลงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.68 แจ้งความประสงค์ของกัมพูชาที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ทางกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการไปที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ให้มีหนังสือเช่นกันถึงเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริง ตลอดจนท่าทีและการดำเนินการของฝั่งไทยในเรื่องนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และฝ่ายไทยได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเวียนหนังสือชี้แจงของไทยเป็นเอกสารของสำนักงานสหประชาชาติเพื่อให้สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับทราบเช่นกัน ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและชี้แจงจุดเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางมาระตี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.กระทรวงการต่างประเทศได้ออกข่าวสารนิเทศอีก 1 ฉบับเพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีของไทยและข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อในขณะนี้มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมากจากหลายแหล่ง ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงได้มีการชี้แจงในการดำเนินการของฝ่ายไทย ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา และจุดยืนของรัฐบาลไทย คือ การแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธีภายใต้พันธกรณี 2543 ที่ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาเขตแดนผ่านการเจรจาภายใต้กลไก JBC