สวรรค์นักดำน้ำที่ “เกาะเต่า”
งานที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมกับสื่อสารตัวตนของเกาะเต่าผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ และยกระดับเกาะเต่าเป็น “ต้นแบบจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก” โดยมีกิจกรรมหลากหลายทั้งคอนเสิร์ตริมทะเลที่มีวงพัทลุง และฟอร์ด สบชัย มาขับขานบทเพลง มีพาเหรดสร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล Trash-to-Art Parade (แทรช-ทู-อาร์ท พาเหรด) มีนิทรรศการ “Below the Surface” (บีโลว เดอะ เซอร์เฟส) รวมทั้ง Mini Dive & Adventure Expo (มินิไดฟ์ แอนด์ แอดเวนเจอร์ เอ็กซโปร์) ที่รวมเอาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำน้ำมาไว้ในที่เดียว
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม BCG (บีซีจี) ทั้งการฟื้นฟูปะการัง เก็บขยะทะเล ซ่อมทุ่นผูกเรือ สำรวจปะการัง และสร้างบ้านปลากับชาวประมง มีกิจกรรมให้ได้ลงมือทำอย่างเวิร์กช็อปผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ Eco Print (อีโค่ ปริ้น), Sea Glass (ซี กลาส), CoCo Tie Dye (โคโค ไท ไดย์) แน่นอนว่าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ชุมชนมาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาทำความสะอาดธรรมชาติ การทำอาหารพื้นบ้าน การทำอิฐบล็อกจากเศษแก้วและขยะพลาสติกมูลค่าต่ำ รวมไปถึง Wellness Zone (เวลเนสโซน) ที่ประกอบด้วย Ice Bath (ไอซ์บาธ), Sound Healing (ซาวน์ ฮีลลิง), นวดแผนไทย และขาดไม่ได้ Koh Tao Green Market (เกาะเต่า กรีน มาร์เก็ต) ตลาดที่รวมเอาสินค้ารักษ์โลกของชาวเกาะเต่ามาไว้ด้วยกัน รั้งท้ายด้วย International Sports Day @ Koh Tao (อินเตอร์เนชั่นแนล สปอร์ต เดย์ แอท เกาะเต่า) และงานสัมมนา “Pathway to Koh Tao – So Green” เส้นทางสู่เกาะเต่าสีเขียว
นางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวว่า กิจกรรมและนโยบายต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสะท้อนความพยายามต่อเนื่องกว่า 20 ปีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำเสียและขยะ การลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการงดใช้โฟม หลอด ขวดแก้ว ที่มีบรรจุภัณฑ์กระป๋องทดแทน การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการส่งเสริมชุมชนประมงพื้นบ้าน
“ธุรกิจดำน้ำถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจเกาะเต่าในแต่ละปีมีนักเรียนดำน้ำใหม่กว่า 50,000 คน และนักดำน้ำรวมกว่า 300,000 คน ที่เดินทางมาเพื่อเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์การดำน้ำระดับโลก สถานการณ์ท่องเที่ยวของเกาะเต่าฟื้นตัวดีเยี่ยม ปี 2024 มีนักท่องเที่ยวรวม 666,778 คน สูงกว่าก่อนโควิด ปี 2025 (ม.ค.–พ.ค.) มียอดแล้วกว่า 327,000 คน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะทะลุ 700,000 คน นับเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์เกาะเต่า”
รายได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมดำน้ำนี้หมุนเวียนเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี กระจายไปยังหลากหลายธุรกิจ เช่น โรงเรียนดำน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เรือ ร้านค้า ร้านอุปกรณ์ดำน้ำ เสื้อผ้า และแรงงานในท้องถิ่นเป็นระบบเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงทั้งเกาะให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเพราะเกาะเต่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตนักดำน้ำและครูดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและติดอันดับต้น ๆ ของโลก มีนักเรียนดำน้ำใหม่ เฉลี่ยปีละ 50,000 คน และผลิตครูดำน้ำได้มากกว่า 200 คนต่อปี ระบบการสอนรองรับทั้ง PADI, SSI และองค์กรดำน้ำระดับนานาชาติอื่น ๆ ทำให้เกาะเต่ากลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของนักดำน้ำจากทั่วโลก
นั่นมาจากองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการเรียนดำน้ำของเกาะเต่า ทั้งจุดดำน้ำใกล้ฝั่ง กระแสน้ำไม่แรง การเดินทางสะดวก ค่าเรียนเหมาะสม ระบบการสอนมีคุณภาพ ครูหลากหลายภาษา และได้รับการรับรองจากองค์กรระดับสากล รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ยังคงสมบูรณ์ และที่สำคัญคือชุมชนมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือกับธุรกิจดำน้ำอย่างดี ทั้งหมดนี้ทำให้เกาะเต่าได้รับการขนานนามว่า “The Dive School of the World” และได้รับการยอมรับในระดับโลก
จากสถิติช่วงต้นปี 2024 นักเรียนดำน้ำที่มาเกาะเต่ามาจากหลากหลายประเทศ โดย 15 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐฯ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ไทย ออสเตรเลีย จีน เดนมาร์ก แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
“สำหรับนักดำน้ำชาวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน รวมถึงผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองสู่ระดับวิชาชีพ เช่น Divemaster หรือ Instructor”
หลักสูตรดำน้ำของเกาะเต่ามีครบถ้วนสำหรับผู้เรียนทุกระดับ ตั้งแต่ Discover Scuba Diving – สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ Open Water, Advanced, Efr,Rescue Diver – พัฒนาทักษะทีละขั้น Divemaster, Instructor – สำหรับสายอาชีพ และคอร์สเฉพาะทาง เช่น Freediving, Marine Conservation และ Night Dive, Deep Dive ทุกหลักสูตรดำเนินการโดยโรงเรียนดำน้ำที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมระบบดูแลความปลอดภัย และบรรยากาศเป็นกันเอง
“Spotlight Koh Tao ไม่ใช่แค่งานเทศกาล แต่คือ “เวทีของคนเกาะเต่า” ที่รวมพลังจากชุมชน เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติ และผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก “ความรัก ความตั้งใจ และความร่วมมือ” ของชาวเกาะเต่า เพื่อให้บ้านกลางทะเลแห่งนี้เติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืนไปในระยะยาว” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า ทิ้งท้าย