สรุปปมสัมพันธ์ลับ ‘สีกากอล์ฟ’ สะเทือนวงการผ้าเหลือง บทเรียนวงการสงฆ์สะท้อน ‘อาบัติ’ ในโลกความจริง
‘สีกากอล์ฟ’ กลายเป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่สาดสะเทือนวงการผ้าเหลือง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลักฐานนับหมื่นที่โยงไปถึงพระผู้ใหญ่หลายรูป กลายเป็นประเด็นร้อนที่ไม่อาจซุกไว้ใต้อาสนะได้อีกต่อไป
เรื่องจริงในวันนี้ หากมองให้ดีมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่ ‘อาบัติ’ ภาพยนตร์ไทยเคยตั้งคำถามไว้เมื่อเกือบสิบปีก่อน ว่าเหตุใดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ถึงกลายเป็นพื้นที่ของความใคร่และอำนาจ
คำถามนั้นไม่ใช่แค่ ‘ใคร’ ผิดแต่คือ ‘ระบบ’ แบบไหนที่เปิดทางให้สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ?
จาก ‘ทิดอาชว์’ สู่เครือข่ายอื้อฉาว
เรื่องนี้ถูกจุดชนวนขึ้นเมื่อทิดอาชว์ หรืออดีตพระเทพวชิรปาโมกข์ ลาสิกขาไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 อย่างกะทันหัน หลังมีคลิปวิดีโอความสัมพันธ์ของตัวเขากับสีกากอล์ฟ แพร่สะพัดในโลกออนไลน์
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลจากการตรวจค้นบ้านพักของสีกากอล์ฟ ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งนำไปสู่การค้นพบจีวรจำนวนมากและโทรศัพท์มือถือที่บรรจุหลักฐานสำคัญ
และนำพาไปสู่การเข้าตรวจสอบที่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, วัดหลวงพ่อโสธร และวัดอื่นๆ จนสามารถรวบรวมรายชื่อพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องได้ 8 รูป
‘สีกากอล์ฟ’ หญิงวัย 35 ผู้เลือกพระมีฐานะ
สีกากอล์ฟคือหญิงสาววัยประมาณ 35 ปี ที่ให้การยอมรับว่าเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระสงฆ์หลายสิบรูป และบางรูปถึงขั้นมีบุตรร่วมกัน โดยให้ญาติเป็นผู้จดทะเบียนรับรองบุตรแทน
เธอมีพฤติกรรมที่ชัดเจนในการเลือกเฉพาะพระสงฆ์ที่มีฐานะร่ำรวยและเข้าถึงง่าย พร้อมทั้งครอบครองจีวรของพระสงฆ์หลายสิบผืน รวมถึงโทรศัพท์มือถือ 4-5 เครื่องที่ใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมด
ปัจจุบันเธอได้แสดงความสำนึกผิดและพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่
วิกฤตศรัทธาจากความสัมพันธ์ฉาวกับพระชั้นผู้ใหญ่
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (บก.ปปป.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ทำให้ได้พบหลักฐานสำคัญคือ
‘คลิปวิดีโอและภาพถ่ายกว่า 80,000 ไฟล์’ ในโทรศัพท์มือถือของสีกากอล์ฟ ซึ่งแสดงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับพระสงฆ์หลายรูป
จากการพิสูจน์ตัวบุคคล สามารถระบุพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 8 รูป ซึ่งล้วนเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ในวัดสำคัญ รวมถึงเจ้าคณะจังหวัดถึง 2 รูป ซึ่งมี 3 รูปที่มีหลักฐานชัดเจนถึงขั้นอาบัติปาราชิก ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงที่สุดทางพระวินัย ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุทันที
โดยมีภาพใบหน้าปรากฏขณะมีเพศสัมพันธ์ในจีวร นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ฝั่งธนบุรี และพระชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ จากวัดสำคัญในภาคกลางและภาคตะวันออกที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย
ผลกระทบต่อพุทธศาสนาและกฎหมาย
- พระสงฆ์ที่มีหลักฐานชัดเจนถึงขั้นอาบัติปาราชิก กำลังถูกดำเนินการให้ลาสิกขาโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทันที
- พระสงฆ์บางรูปที่พบหลักฐานแต่ยังไม่มีคำสั่งลงโทษ ได้รับคำแนะนำให้ลาสิกขาเอง เพื่อลดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาสนา
- เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินจำนวนมากจากพระสงฆ์หลายรูปมายังสีกากอล์ฟ ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา แม้จะยังไม่มีผู้เสียหายแจ้งความ แต่ตำรวจมั่นใจว่าสามารถดำเนินคดีได้
‘อาบัติ’ ในโลกจริง
จากหลักฐานที่ปรากฏ ทำให้สังคมได้เห็นถึงการละเมิดพระวินัยขั้นร้ายแรง ซึ่งรวมถึง อาบัติปาราชิก ของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ การที่พระสงฆ์ ซึ่งควรเป็นผู้ถือศีลบริสุทธิ์และเป็นแบบอย่างทางจิตวิญญาณ กลับเข้าไปพัวพันกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาว การใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย และอาจเข้าข่ายการกรรโชกทรัพย์ สะท้อนให้เห็นถึง ความเปราะบางของวินัยสงฆ์ และขาดกลไก การตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กิเลสตัณหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ทรัพย์สิน หรืออำนาจ ยังคงสามารถครอบงำจิตใจผู้ที่ควรจะละวางได้ แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การที่พระต้องลาสิกขา แต่คือการกัดกร่อนศรัทธาและความเชื่อมั่นที่สาธุชนมีต่อสถาบันศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางจิตใจของสังคมไทย
‘อาบัติ’ ในภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่องอาบัติ (2558) เคยเป็นประเด็นถกเถียงตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย เนื่องจากเนื้อหา ที่ตีแผ่พฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของพระหนุ่มที่เข้ามาบวชในวัดชนบท และต้องเผชิญกับอดีตบาปของพระรูปอื่น รวมถึงเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำผิดศีลธรรมเหล่านั้น
ในเวลานั้น หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ บ่อนทำลายศรัทธาและนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสม ของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งต้องมีการปรับแก้ชื่อและเนื้อหาบางส่วนก่อนได้รับอนุญาตให้ฉาย
เมื่อพิจารณาจากกรณีสีกากอล์ฟ ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอเมื่อเกือบสิบปีก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือการบิดเบือน แต่เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่มีอยู่จริง ในวงการสงฆ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง