‘ทรัมป์’ ปฏิเสธ WHO ปฏิรูปรับมือโรคระบาดใหญ่ อ้างละเมิดอธิปไตย
การตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นหลายเดือนหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มกระบวนการ ถอนสหรัฐออกจากสาธารณสุขสหประชาชาติ เมื่อเขาได้กลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แม้จะมีการถอนตัว แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ข้อความที่ระบุในระเบียบการปฏิรูปใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่นำมาใช้เมื่อปีที่แล้วจะยังคงมีผลผูกพันต่อสหรัฐ
แยกตัวพ้น กฎเกณฑ์รับมือโรคระบาดระดับโลก
ในแถลงการณ์ร่วมสองกระทรวงที่มีขึ้นระหว่าง มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ ได้ระบุว่า การแก้ไขดังกล่าว “มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแทรกแซงอย่างไม่สมควรต่อสิทธิอธิปไตยของประเทศ ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ”
“เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับอเมริกันมาก่อนในทุกๆการดำเนินงานของรัฐบาล ดังนั้นจะไม่ยอมให้มีนโยบายระหว่างประเทศใดๆ ที่จะละเมิดคำพูด ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพของชาวอเมริกัน” แถลงการณ์ระบุ
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ตามที่ องค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว ได้รวมถึงการมุ่งมั่นต่อ “ความสามัคคีและความเท่าเทียม” และการสร้างกลไกเพื่อประเมินความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก
เจรจาไม่ลงตัว ติดตรงทรัพย์สินทางปัญญา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามที่ขยายวงกว้างขึ้น ในการทำข้อตกลงสนธิสัญญาเกี่ยวกับโรคระบาดที่ล้มเหลว ซึ่งเผชิญกับการต่อต้านจากสมาชิกรัฐสภา และนักวิจารณ์หัวอนุรักษ์นิยมอย่างหนักในสหรัฐ อังกฤษ และอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้ รูบิโอและเคนเนดี วิพากษ์วิจารณ์ย้ำว่า องค์การอนามัยโลกจะต้องรับรู้ถึงมีความเปราะบางทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลโจ ไบเดน ไดัเข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่สนับสนุนประโยคสุดท้ายที่ระบุในข้กตกลงฯ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดยสหรัฐ
“การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาความอ่อนไหวของ WHO ต่ออิทธิพลทางการเมือง และการเซ็นเซอร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ในช่วงที่มีการระบาด” แถลงการณ์ของรูบิโอและเคนเนดีระบุ
อ้างอิง CNA