‘ดุสิตโพล’ ชี้มหาวิทยาลัยไทยมีส่วนสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์
20 ก.ค. 2568 - “สถาบันศิโรจน์ผลพันธิน” ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “บทบาทมหาวิทยาลัยไทยกับ Soft Power” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,128 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าไทยควรใช้ Soft Power เป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างภาพลักษณ์และความได้เปรียบในเวทีโลกด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและเทศกาลระดับโลก ร้อยละ 70.78 เรื่องที่มองว่ามีศักยภาพสูงในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในอนาคต คือ ธุรกิจสุขภาพ ความงาม และการดูแลสุขภาพแบบไทย ร้อยละ 58.24 ทั้งนี้มหาวิทยาลัยไทยควรมีบทบาทในการพัฒนา Soft Power ของประเทศด้วยการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม Soft Power ร้อยละ 61.08 นักศึกษาไทยควรมีบทบาทเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ร้อยละ 64.18 ในภาพรวมมองว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพขับเคลื่อน Soft Power ในบางสาขาและยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม ร้อยละ 43.97 สุดท้ายอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาหลักสูตรความร่วมมือระดับนานาชาติ ร้อยละ 65.72
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า Soft Power ไทยมีศักยภาพก้าวสู่ระดับโลกหากรัฐบาลเดินเกมให้ถูกทาง โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจสุขภาพแบบไทยที่มีศักยภาพสูงในสายตาประชาชน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยไทยสามารถช่วยขับเคลื่อนได้ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เชื่อมโยงไทยสู่เวทีโลก รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจน จับต้องได้ ไม่ใช่เพียงวาทกรรม พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักวิจัย เยาวชน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
ผศ.ดร.พรชนิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นสูงว่าไทยสามารถใช้ Soft Power เป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ได้ในเชิงเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ เช่น การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ยังไม่มั่นใจว่ารัฐ/เอกชนจะจัดการด้านสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มได้ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง Soft Power ที่เห็นว่ามีศักยภาพสูง คำตอบใน 3 อันดับแรกกลับอยู่ในช่วงคะแนน 50-60% ซึ่งตีความได้ว่า เห็นด้วยพอสมควรว่าเป็น Soft Power ที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มั่นใจเต็มที่ว่าไทยจะผลักดันได้สำเร็จ และคาดหวังให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นกลไกกลางในการพัฒนา Soft Power ทั้งการสร้างองค์ความรู้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทาง ทั้งยังมองว่านักศึกษาคือกำลังสำคัญในการเป็น Soft Power รุ่นใหม่แต่ศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยยังไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างความร่วมมือและทุนวิจัย จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างเครือข่ายและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง