ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องโฆษณาแทรก OTTกสทช. ถูกร้องละเลยหน้าที่
ฟ้อง กสทช. ฐานไม่จัดการโฆษณาคั่นรายการในแอป OTT
คดีนี้เกิดจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT รายหนึ่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมเลขาธิการและสำนักงาน กสทช. ว่าละเลยต่อหน้าที่ในการออกหลักเกณฑ์และกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบ OTT ที่นำรายการโทรทัศน์ทั่วไปมาเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมแทรกโฆษณาก่อนและระหว่างรับชม
ผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายกลับเพิกเฉย หรือดำเนินการล่าช้าเกินสมควร
—————
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเข้าข่าย “กิจการโทรทัศน์” – มีสิทธิฟ้องได้
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริการ OTT ดังกล่าวเข้าข่าย “กิจการโทรทัศน์” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองอาจละเลยต่อหน้าที่หรือล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542
นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่าคดีนี้มีลักษณะเป็น “คดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำกัดอายุความ
—————
ขอให้ศาลสั่ง กสทช. ออกเกณฑ์–บังคับใช้ใบอนุญาต OTT
ผู้ฟ้องร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ กสทช. ดำเนินการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจการ OTT อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่เผยแพร่รายการผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องขอรับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับตามกฎหมาย และคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาที่มากเกินควร
——————-
จับตาคดีพิรงรอง มีช่องสู้เพิ่ม
คดีนี้อาจมีนัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อแนวทางการสู้คดีของพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่แพ้คดีแก่ทรูไอดี ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปก่อนหน้านี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่ศาลฯ วินิจฉัยคือ ทรูไอดีเป็นผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งขัดแย้งกับแนววินิจฉัยลล่าสุดของศาลปกครองสูงสุดที่รับคำร้องผู้เสียหายรายหนึ่งไว้พิจารณา โดยเห็นว่า กสทช. อาจมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล OTT และคดีนี้เป็นเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่พิรงรองพยายามต่อสู้เพื่อให้กสทช. มีการออกระเบียบมาควบคุม ซึ่งหากศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า กสทช.ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องนี้ อาจพลิกน้ำหนักข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีพิรองรองได้ในอนาคต