ปล่อยพันธุ์ปลากว่า 15 ล้านตัว คืนสู่แหล่งต้นน้ำ หนุนเพิ่มประชากรในช่วงฤดูวางไข่
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” เป็นโครงการที่กรมประมงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศวิทยาให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์สู่แหล่งต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยด้วยชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิด ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม
สำหรับพิธี Kick Off เปิดโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา” ประจำปีงบประมาณ 2568 ที่จัดขึ้นในวันนี้ กรมประมงได้กำหนดจัดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน (ฤดูน้ำแดง) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากระดับน้ำมีการเพิ่มสูงขึ้นและปลามีการอพยพเพื่อสืบพันธุ์วางไข่ ส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรประมงไปพร้อมกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายในงานยังได้มีการปล่อยพันธุ์ปลาคืนสู่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ รวมจำนวนกว่า 15 ล้านตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียน ปลากาดำ ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนทองและปลาเทพา พร้อมมอบพันธุ์สัตว์น้ำรวมอีกกว่า 100,000 ตัว ให้แก่ตัวแทนชุมชน 18 ชุมชน 22 กลุ่มเป้าหมายได้นำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับประชาชนในพื้นที่
ภารกิจในครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา” ที่กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - 2567 สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาไทยและปล่อยคืนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงรายได้แล้วกว่า 125,360,000 ตัว และในปี 2568 นี้กรมฯ ยังได้วางเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำภายใต้โครงการฯ ทั้งในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงรายเพิ่มอีกจังหวัดละ 20 ล้านตัว รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านตัว โดยจะนำไปทยอยปล่อยคืนสู่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นแหล่งต้นน้ำ แม่น้ำสาขา และแหล่งน้ำชุมชนของกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย กว๊านพะเยา หนองเล็งทราย แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำงิม และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยาและเชียงราย โดยจะส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำได้กว่า 40 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากถึง 4,000,000 บาท ซึ่งจะเป็นรายได้ให้ชาวประมงในพื้นที่ต่อไป