ธุรกิจแฟคตอริ่งชง 4 ข้อเสนอ หนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงิน
เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและมีความท้าทายหลายประการ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะด้านต้นทุนสูง การแข่งขันที่รุนแรง และความยุ่งยากในการติดต่อกับภาครัฐและสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐและการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอง
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษนายอัครวิทย์ สุกใส นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง(TFA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด(มหาชน) สะท้อนปัญหาและโอกาสที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ประกอบการรายใหญ่และมีส่วนในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
นายอัครวิทย์เปิดเผยว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) ไตรมาสแรกปีนี้พบว่า ตลาดสินเชื่อ SMEs หดตัว 5.5% สอดคล้องกับข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ที่พบว่า ยังมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จดทะเบียนทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้
ทั้งนี้ 3 Pain Point ที่ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ เพราะ
- ไม่มีความพร้อมในสินทรัพย์ /ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ระบบการจัดการทางบัญชีไม่สะท้อนภาพที่แท้จริง
- ไม่สามารถแสดงหลักฐานทางการค้าที่น่าเชื่อถืออย่างเพียงพอต่อสถาบันการเงิน
การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินของ SMEs จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแฟคตอริ่ง ซึ่งรับซื้อลูกหนี้การค้า โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีประวัติธุรกรรมการซื้อขายจริงผ่านทางการค้ามาแสดง โดยเฉพาะสมาชิกของสมาคม TFA จำนวน 12 ราย (ทั้งระบบมีประมาณ 20ราย) มียอดปล่อยสินเชื่อรวมคิดเป็น 60-70% ของมูลค่ารวมทั้งตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.7 แสนล้านบาท
สำหรับภาพรวมธุรกิจแฟคตอริ่ง สิ้นไตรมาส1 ปี68 พบว่า ความต้องการวงเงินหมุนเวียนใกล้เคียงปีก่อน อาจจะหดตัวในบางอุตสาหกรรม และเป็นห่วงกลุ่มซัพพลายเชนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมภายในประเทศ ดังนั้นแต่ละบริษัทจะจัดสรรสินเชื่อให้แต่ละประเภทธุรกิจ โดยกระจายตัวแต่ละอุตสาหกรรม
ดังนั้น ผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ยังไม่ชัดเจนนัก จึงยังไม่สร้างผลกระทบให้กับผู้ให้บริการแฟคตอริ่งในไตรมาสที่ผ่านมา แต่อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในหลังไตรมาส3 ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งเราจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นห่วง SMEs หากมีความอ่อนไหวเข้ามา ล่าสุดมีความไม่นิ่งจากการเมือง ซึ่งความไม่แน่นอนอาจจะส่งผลเชิงจิตวิทยาด้านผู้ซื้อเกิดความไม่มั่นใจในการจัดซื้อสินค้าหรือลงทุน
“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งสัญญาณเครดิตเทอมปัจจุบันยังอยู่ในระดับปกติตั้งแต่ 60-180วัน เฉลี่ยไม่เกิน 90วันแต่การใช้วงเงินไม่แน่นอนคือ บางเดือนมียอดการใช้วงเงินมาก/น้อย ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)อยู่ในลักษณะค่อยๆเพิ่ม อยู่ในเกณฑ์ดูแลได้ไม่มีนัยสำคัญ แต่ยังต้องจับตาออร์เดอร์ แต่ละอุตสาหกรรมใน 3ไตรมาสที่เหลือ”
ส่วนแนวโน้มความต้องการสินเชื่อครึ่งปีหลัง นายอัครวิทย์ระบุว่า ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ยังสูงมาก ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง ขณะเดียวกันการพิจารณาเครดิตจะต้องเข้มข้นมากขึ้น เพราะผู้ประกอบธุรกิจเน้นความระมัดระวัง ไม่เร่งขยายฐานลูกค้า โดยแต่ละบริษัทจะจัดสรรสินเชื่อตามความเหมาะสม ซึ่งการแข่งขันยังคงอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การจะปิด Pain Point ของ SMEs ยังพอมีแนวทาง โดยสมาคมฯ เตรียมเสนอภาครัฐใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การใช้กลไกของสินเชื่อแฟคตอริ่งเป็นทางเลือกแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อหรือเงินทุนหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย เพราะสินเชื่อแฟคตอริ่งรับซื้อลูกหนี้การค้า สิ่งที่ทดแทนหลักทรัพย์ประกันได้คือ การส่งมอบสินค้า/บริการที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะมีหลักฐานใบรับวางบิล,ใบส่งสินค้า หรือ Invoice แจ้งหนี้ที่มีลายเซ็นต์ของผู้รับสินค้าแล้วและมีประวัติย้อนหลังของธุรกรรม
- ภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-bidding ร่วมมือกับสมาคม TFA โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่ธปท.พัฒนาไว้ดีแล้วคือ “โครงการดิจิทัลแฟคตอริ่ง” เป็นช่องทางช่วยผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือ Supplier กับหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ Supplier ได้รับเงินหมุนเวียนเร็ว ไม่ต้องพึ่งเงินกู้/ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยต้นทุนที่ไม่แพงเกินไป
- ภาครัฐช่วยปลดล็อกเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะตัดสินใจให้ใช้บริการแฟคตอริ่ง ซึ่งในทางปฎิบัติปัจจุบันบางหน่วยงานรัฐไม่สะดวกในการโอนสิทธิเรียกร้องให้กับผู้ให้บริการทางการเงินเข้าไปรับเงินค่าสินค้าและบริการแทนผู้ขาย จึงเสนอให้มีโครงการนำร่องโดยภาครัฐ/หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะช่วยให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปครึ่งหนึ่งของการใช้เงินหมุนเวียนจากบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิต หรือเงินกู้นอกระบบ
- พิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์การให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย(บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยนอนแบงก์ทั่วไป(ที่ไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์) และครอบคลุมถึงแฟคตอริ่งด้วย
ต่่อข้อถามถึงบริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ถึงแผนธุรกิจ 3ปี(2567-2569) นายอัครวิทย์ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส1 ปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้ว โดยเงินให้สินเชื่อลดลงเล็กน้อย 3.0% สาเหตุจากบริษัทต้องดูแลลูกค้า SMEs ไม่สามารถขยับอัตราดอกเบี้ยได้มากนัก
ประกอบกับ ปริมาณธุรกรรมลูกค้าบางรายใช้วงเงินน้อยลง แต่ในแง่ด้านรายได้รวมจะเพิ่มประมาณ 6% เป็นผลพวงจากบริษัทมีธุรกรรมทั้งแฟคตอริ่งและนอนแฟคตอริ่ง เช่น สินเชื่อระยะยาว สินเชื่อสีเขียว(Green Loan) รวมถึง ESG Finance ซึ่งภายใต้โครงสร้างความหลากหลายของบริการสามารถกระจายความเสี่ยงด้านรายได้
ส่วนภายใต้แผน 3ปี ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท ภายใต้กลยุทธ์แรกคือ ต้องการยกระดับในการให้บริการโดยร่วมกันพันธมิตรทางการค้าไม่ว่า ห้างสรรพสินค้า บริษัทเทค ที่สามารถจะช่วยสร้างกระบวนการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพนำเทคโนโลยี่มาอำนวยความสะดวกทั้งในแง่ของเราและลูกค้าด้วย ซึ่งจะเป็นแต้มต่อในการเข้าถึงบริการของไอร่า
ขณะเดียวกัน มุ่งเน้นการนำ AI มาใช้ให้มากขึ้นเป็นกลยุทธ์ที่ 2 ในกระบวนการตรวจสอบเครดิต/กระบวนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือข้อมูล/ประวัติทางการค้าต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้สินเชื่อ
ส่วนกลยุทธ์ที่3 มุ่งพัฒนา Synergy โดยใช้ข้อมูล BIG DATA ภายในกลุ่มไอร่าให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนอนแบงก์ของไอร่า จะมีทางเลือกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว
"อนาคตด้วยศักยภาพพนักงาน อาจจะวางตัวไอร่า ที่มี 6 กลุ่มธุรกิจครอบคลุม มีจำนวนลูกค้าและคู่ค้ามากกว่า 1ล้านราย โดยน่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูล BIG DATA และอาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับลูกค้าและคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง"
รวมถึงการให้คำปรึกษาลูกค้าทั้ง SMEs และลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ SMEs ซึ่งพบอุปสรรคในการใช้บริการทางการเงิน โดยจะน Pain Point เหล่านั้นมาวิเคราะห์และช่วยแก้ปัญหาและแนะนำบริการของบริษัทในกลุ่ม AIRA เพื่อช่วยแก้ Pain Point ให้ลูกค้า แม้ว่า AIRA ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อโดยตรง แต่ในเชิงกลยุทธ์ AIRA สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจและมีส่วนแบ่งรายได้(Sharing Revenue )กลับมายัง AIRA ด้วย
ปัจจุบัน 6 กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับ AIRA ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ,แพกเกจจิ้งรักษ์โลก,ลอจิสติกส์และการให้บริการโกดัง/ขนส่ง, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตประเภทอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์และพลังงาน/ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์
บริษัทพยายามยกระดับบริการ เน้นทำตลาดผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์/ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง หรือรับสมัครสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล/ออนไลน์แฟคตอริ่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ในการทดลอง (Sandbox) ช่วงเริ่มต้นในการยกระดับบริการช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
ขณะเดียวกัน มีพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี่เข้ามาช่วย หากสามารถขยายบริการได้มากขึ้น เชื่อว่า ต้นทุนในการบริหารจะลดลง เช่นเดียวกับการยกระดับบริการให้ลูกค้าสะดวกสะบายมากขึ้นและคาดหวังว่าจะช่วยให้ขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดโดยสะดวกไม่จำเป็นต้องเปิดสาขา
อย่างไรก็ตาม สิ้นปี2568 คาดว่า ยอดใช้วงเงินรวมสะสมจะอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อทั้งปีคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 7% ด้านรายได้ปีนี้ที่คาดหวังว่า จะเติบโตประมาณ 10% (แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม)
ผลิตภัณฑ์บริการแฟคตอริ่งมีความหลากหลายที่อำนวยสินเชื่อในลักษณะสินเชื่อสีเขียว (Geen Loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการประหยัดพลังงาน/ลดการใช้พลังงาน หรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซึ่งมีความคืบหน้ายอดสินเชื่อกว่า 300 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาวจากที่ตั้งเป้า 3ปี จะปล่อยสินเชื่อสีเขียววงเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาททั้งสินเชื่อระยะสั้นและระยะยาว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,114 วันที่ 17 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568