ฟิลิปปินส์ บินลัดฟ้า ศึกษาการเลี้ยงกุ้ง GI ราชบุรี
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้แทนไทย และฟิลิปปินส์ ศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงกุ้งกรามในพื้นที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งได้มาตรฐาน GI การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสู่ตลาดต่างประเทศ
วันที่ 23 ก.ค. 68 นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ได้นำคณะทำงานและเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและฟิลิปปินส์ เดินทางศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่ประกอบฟาร์ม ในพื้นที่ ต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี พร้อมประชุมเพื่อดูข้อมูลการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามคุณภาพของ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งกรามกรามขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางได้รับมาตรฐาน GI ของจังหวัดราชบุรี มีการส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมี นายอำนาจ จีนขาวขำ ประมงจังหวัดราชบุรี นางสาวสุรังษี ทัพพะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี มีนายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเพาะเลี้ยงกุ้งกราม ที่มีการจัดการเลี้ยงอย่างเป็นระบบเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยง เตรียมพันธุ์ การให้อาหาร การจับกุ้ง
สิ่งสำคัญในการเลี้ยงคือ ต้องทำพื้นที่ให้สะอาด ไม่ใช้สารเคมี เมื่อกุ้งมีความสะอาด พื้นที่สะอาดก็จะทำให้กุ้งโตไว สิ่งสำคัญคือ ต้องคอยดูแลเรื่องพาหะไม่ให้เข้ามาในฟาร์มหรือบ่อเลี้ยงกุ้ง หมั่นตรวจเช็คคุณภาพน้ำสม่ำเสมอ โดยการเพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ราชบุรี ได้พัฒนาการเลี้ยงโดยใช้สารประกอบชีวโมเลกุล ซึ่งได้รับการคิดค้นจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาแม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ มีประโยชน์ช่วยทำให้กุ้งเจริญเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ทำให้กุ้งมีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัย มีการนำมาเพาะเลี้ยงในพื้นที่ภาคกลางและใกล้เคียง ข้อเด่นของกุ้งคือ มีเนื้อมาก และยังเนื้อยังแน่นมันอร่อย กุ้งได้คุณภาพที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาด
นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า ทางผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาดูว่าวิถีของเกษตรกรเป็นอย่างไร ติดขัดมีปัญหาอะไรบ้างเพื่อจะได้พูดคุยกัน และอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง จากการประชุมครั้งนี้ในนามตัวแทนเกษตรกรได้เสนอเรื่องปัญหาอุปสรรคคือ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้งภาคกลางเพื่อทำส่งออก อยากให้ทางกระทรวงฯ และกรมประมงมาช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพราะเราคือเกษตรกร จะได้ทำงานสะดวกมากขึ้น อีกเรื่องคือปัญหาด้านเอกสารที่ยังไม่มีความชำนาญ การประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ได้มีโอกาสมาพบเจอกัน เพื่อจะได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตามภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้วได้มีการนำกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ 8 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นฝีมือการเลี้ยงของเกษตรกรมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารให้ทางคณะได้ลิ้มลองรสชาติอีกด้วย ทั้งนี้ชาวฟิลิปปินส์ ที่ได้เดินทางมาร่วมศึกษาดูงาน ได้ให้ความสนใจ เพื่อนำข้อมูลกลับไปพัฒนาศึกษาวิธีการเลี้ยงกุ้งของประเทศตนเองต่อไป