ผู้ป่วย ร้องทำประกัน เเต่เคลมไม่ได้ เเถมให้เลือกจะไปต่อ หรือ ลอยเเพ ?
นี่คือ เสียงสะท้อนจากผู้ป่วย
ทำประกันทั้งที … เเต่เคลมไม่ได้ ?
เเถมให้เลือก ไปต่อ หรือ ลอยเเพ ?
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก kitti pornsiwakit โพสต์ หลังพาผู้ป่วยโรคร้ายแรงมาขอความเป็นธรรม เพราะบริษัทประกันที่ไว้ใจกำลังจะลอยแพ ?
“เสียงสะท้อนความทุกข์ระทมจากผู้เอาประกันภัยดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนโยบายใหม่ของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันในชื่อผลิตภัณฑ์ย่อว่า “iHea… ” กำลังสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักแก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เคยเคลมสินไหมแม้เพียงเล็กน้อย หลายรายทำประกันมานานนับสิบปี ไม่เคยเคลม แต่เมื่อต้องเผชิญภาวะเจ็บป่วยตามวัย หรือเป็นโรคร้ายแรง กลับต้องพบกับ “วิบากกรรม” ที่ไม่คาดฝัน
ผู้เอาประกันหลายรายเล่าตรงกันว่า หลังจากเคลมสินไหมไปเพียง 1-2% ของวงเงินความคุ้มครองสูงสุด เช่น วงเงิน 100 ล้านบาท แต่เคลมไปหลักแสน เมื่อจะต้องต่อสัญญาก็ได้รับจดหมายจากบริษัทประกัน โดยมีเวลาตัดสินใจเพียง 30-45 วัน เพื่อเลือก 3 ทางเลือกอันยากลำบาก ได้แก่:
1) ยอมจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2.5 เท่า: เป็นภาระที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีรายได้จำกัด
2) ยอมจ่าย Co-payment 20% ทุกโรคทุกบิล: หมายถึงผู้เอาประกันต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 20% ของบิลค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นจำนวนเงินที่สูงมากในกรณีเจ็บป่วยรุนแรง
3) ถูกลอยแพ: หากไม่ยอมรับเงื่อนไขใด ๆ บริษัทจะยุติความคุ้มครองทันที และการหาประกันใหม่ก็เป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วย
มีเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายหลายร้อยราย แสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการกระทำของบริษัทประกันที่ไม่ได้แจ้งเงื่อนไขเหล่านี้ล่วงหน้าเป็นปี ทำให้ผู้เอาประกันไม่มีเวลาเตรียมตัวหรือวางแผนทางการเงิน อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากเผลอกดรับเงื่อนไขผ่านแอปพลิเคชัน ก็จะถูกบังคับให้ปฏิบัติตามทันที แต่หากปฏิเสธ ก็จะถูกตัดออกจากระบบประกันไป “การทำประกันสุขภาพควรเป็นการลดความเสี่ยง ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเสี่ยง”
ผู้เสียหายรายหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ “คนป่วย คนแก่ ไม่มีทางไป ต้องทนจ่ายเงินมหาศาลเพื่อรักษาชีวิต หรือไม่ก็ต้องยอมตายเพราะไม่มีค่ารักษาพยาบาล”
ผู้ป่วยรายหนึ่งกล่าวว่า “พวกหนูเป็นโรคมะเร็ง แค่ต่อสู้กับโรคร้ายก็หนักแล้ว แต่ต้องมาเข้าคิวต่อสู้กับบริษัทประกันฯ ที่เราเคยไว้ใจ โลกนี้มันเลวร้ายเกินไป”
ในขณะที่มีผู้ป่วยหลายคนเป็นโรคหัวใจ บางคนต้องยุติการตั้งครรภ์ บางคนถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลทันทีหลังยื่นร้องเรียน
คปภ. เงียบเชียบ ไร้การช่วยเหลือ?
ที่พึ่งสุดท้ายของผู้เอาประกันคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายหลายรายระบุว่า การร้องเรียนไปยัง คปภ. กลับไร้การตอบสนอง และเมื่อขอเอกสารชี้แจงว่า คปภ. อนุมัติเงื่อนไขดังกล่าวอย่างไร ทาง คปภ. และบริษัทประกันฯกลับโยนกันไปมาระหว่างกัน โดยอ้างว่าเป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกระทั่งสัญญากรมธรรม์กำลังจะหมดลง
สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างยิ่งว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย “iHea…” จะขยายวงกว้างเป็นหลักแสนราย หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและทันท่วงที
ล่าสุด วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังปัญหาของประชาชนกลุ่มนี้อย่างตั้งใจและจริงใจ โดยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งผู้เสียหายหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสามารถนำปัญหานี้เข้าสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้บริษัทประกันสามารถ “เสพสุขกำไรพันล้านบนความทุกข์ของคนป่วย” อีกต่อไป”