อีสานเขียวเที่ยว “บึงกาฬ-อุดรฯ” ตามรอยพญานาคที่ “ถ้ำนาคา-คำชะโนด” 2 แลนด์มาร์คแลนด์มูสุดปัง
แม้เรื่องราวของ “พญานาค” จะเป็นสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ "ความเชื่อ" เรื่องพญานาคของคนไทยนั้นมีมายาวนานนับพันปี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นอกจากจะมีผู้คนจำนวนมากเคารพ นับถือ และมีวิถีที่ผูกผันกับ (ความเชื่อ) เรื่องพญานาคแล้ว ดินแดนอีสานยังอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศรัทธาเกี่ยวกับพญานาคอยู่มากหลาย
ด้วยเหตุนี้แคมเปญ “Isan Greencation – อีสานเย็นดี Green Season นี้มีดีล” ที่ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” กับ “บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ “เคทีซี” (KTC) จับมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคอีสานควบคู่ไปกับโปรโมชั่นและดีลพิเศษหลากหลายรับ Green Season จึงได้จัดทริปนำร่องในเส้นทางนาคานคร “บึงกาฬ-อุดรธานี” ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (เดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุดรฯ ด้วยสายการบินไทยเวียตเจ็ท) โดยมีการเชื่อมโยง 2 แหล่งท่องเที่ยวสายมูที่ขึ้นชื่อในเรื่องพญานาคของ 2 จังหวัดเข้าไว้ด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศอีสานเขียวในช่วงฤดูฝนที่ดูเพลินตาชุ่มชื่นหัวใจกระไรปานนั้น
สำหรับโปรแกรมท่องเที่ยววันแรก เราเปิดประเดิมด้วยการไปตะลุย “หินสามวาฬ” ที่ตั้งอยู่ใน “ภูสิงห์” หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู ต.โคกก่อง อ.เมือง จ.บึงกาฬ
หินสามวาฬ มีลักษณะเป็นก้อนหินใหญ่ 3 ก้อนที่ถูกธรรมชาติสร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อมองจากมุมท็อปวิวจะเห็นก้อนหินยักษ์ 3 ก้อน ชวนให้จินตนาการถึงวาฬยักษ์ 3 ตัว พ่อ-แม่-ลูก แหวกว่ายอยู่เคียงข้างกันกลางผืนป่าเขียว
นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเดินชมวิวได้ทั้งบนหินวาฬแม่ (ก้อนริมทางซ้าย) และหินวาฬพ่อ (ก้อนกลาง) ส่วนหินวาฬลูกก้อนที่เล็กที่สุดที่อยู่ทางริมขวานั้นไม่มีทางให้เดินขึ้นไป แต่ลูกที่ชมวิวได้สวยที่สุด ก็คือบนหินวาฬพ่อ เพราะนอกจากจะได้ชมวิวทิวทัศน์อันงดงามแล้วยังได้เห็นหินวาฬแม่ในมุมที่เหมือนวาฬมากที่สุดอีกด้วย
นอกจากนี้ในเส้นทางนั่งรถกระบะชุมชนเที่ยวหินสามวาฬ ยังมีจุดเช็กอินอื่น ๆ ให้เที่ยว อาทิ ลานธรรมภูสิงห์, ถ้ำใหญ่, จุดชมวิวถ้ำฤาษี, หินหัวช้าง และจุดชมวิวส้างร้อยบ่อ เป็นต้น
หลังจากนั้นในช่วงเย็นเราเดินทางเข้าที่พัก “โรงแรมอนันตระปุระ รีสอร์ท บึงโขงหลง” ที่พักหรูหรา 5 ดาวเปิดใหม่ตั้งอยู่บริเวณบึงโขงหลง ซึ่งตรงกลางสวนของโรงแรมมีประติมากรรมพญานาคกลางสระน้ำดูขรึมขลัง เป็นดังการสะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาที่มีต่อองค์พญานาคของคนแถบนี้
ในคืนแรกนี้คณะเรานอนกันตั้งแต่หัวค่ำเพื่อเก็บพลังไว้ไปขึ้นเขาพิชิตถ้ำนาคาที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของทริปนี้ในวันถัดไป
เช้าวันใหม่ (วันที่ 2) พวกเราออกจากที่พักกันตั้งแต่เช้าตรู่มุ่งหน้าสู่ภูลังกา ระหว่างทางไกด์ประจำทริปพาไปสักการะ “เจ้าปู่อือลือนาคราช” ที่ศาลเจ้าปู่อือลือนาคราช ซึ่ง (เชื่อว่า) ท่านมีความสำคัญต่อการก่อกำเนิดของถ้ำนาคาเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนขึ้นไปพิชิตถ้ำดังกล่าวในลำดับต่อไป
“ถ้ำนาคา” อยู่ในอุทยานแห่งชาติภูลังกา ฝั่ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” (ตามความเชื่อของคนท้องถิ่น) เนื่องจากมีลักษณะทางธรณีวิทยาของหิน ผนังถ้ำ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ดูคล้ายกับพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัวอยู่กลางผืนป่า ไม่ว่าจะเป็น ส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาคที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
นอกจากนี้ถ้ำแห่งนี้ยังมีเรื่องเล่าตำนานความเชื่อที่นำไปผูกโยงกับพญานาคว่า “อือลือราชา” หรือ “เจ้าปู่อือลือ” (พ่อปู่อือลือ) เทพบนสรวงสวรรค์ ที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคปกครองเมืองบาดาล (เชื่อกันว่าคือบึงโขงหลง) ได้สาปบริวารพญานาคของตนให้กลายเป็นหินเนื่องจากทำผิดจารีตไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ ซึ่งก็คือถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค ที่วันนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายมูสุดปังของบึงกาฬ
สำหรับการขึ้นไปเที่ยวถ้ำนาคา เราต้องเดินขึ้นเขาสูงชันมีระยะทางไป-กลับ (ขึ้น-ลงเขา) ประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้มีการทำบันไดเหล็กไว้รองรับตามจุดต่าง ๆ ที่มีความสูงชันหรือมีสภาพธรรมชาติที่เดินลำบาก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้น-ลงเขาได้สะดวกสบายขึ้นกว่าเมื่อก่อน อย่างไรก็ดีสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป การเดินเท้าขึ้นไปเป็น “ผู้พิชิตถ้ำนาคา” นั้นถือว่าสมบุกสมบันและเหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องไม่น้อยเลย
แต่เมื่อเราเดินขึ้นไปถึงยังจุดหมาย ได้สัมผัสกับเรื่องราวตำนานความเชื่อความศรัทธา รวมถึงพบเจอกับธรรมชาติอันชวนทึ่งของปรากฏการณ์ “ซันแคร็ก” หรือ “หมอนหินซ้อน” ที่ดูเป็นลวดลายเหมือนเกล็ดพญานาคในหลายขนาด หลากรูปแบบ มันก็ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
หลังซึมซับกับสิ่งน่าสนใจหลากหลายต่าง ๆ บนยอดเขาในบริเวณ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติถ้ำนาคา” ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำนาคา (ลำตัวพญานาค) เศียรนาคาที่ 1 เศียรนาคาที่ 3 เจดีย์หลวงปู่วัง ผาใจขาด และถ้ำหลวงปู่วัง กันอย่างจุใจแล้ว จุดหมายต่อไปเราเดินทางจากบึงกาฬข้ามจังหวัดสู่อุดรธานี เพื่อไปสัมผัสกับอีกหนึ่งดินแดนที่เป็นตำนานเกี่ยวกับเรื่องราวของพญานาคที่ “ป่าคำชะโนด วังนาคินทร์” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “คำชะโนด” อันลือลั่น
คำชะโนด ตั้งอยู่ที่ ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี มีลักษณะทางธรรมชาติเป็น “เกาะกลางน้ำ” ที่หลาย ๆ คนบอกว่าเป็น “เกาะลอยน้ำ” ได้
คำชะโนดมีเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อ ความลี้ลับ และอาถรรพ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เมืองลับแลหรือเมืองบังบด ป่าอาถรรพ์ ผีจ้างหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับพญานาค ซึ่งเชื่อกันว่าเกาะคำชะโนดเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาลของพญานาค ทำให้ปัจจุบันที่นี่ถูกยกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสายมูเรื่องพญานาค ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ลือลั่นเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย (จากสถิติผู้มาเยือนและผู้สมหวัง)
ที่คำชะโนดมีไฮไลท์อยู่ 3 จุดหลัก ๆ ให้เดินสักการะขอพร ได้แก่
-“ศาลพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมา” องค์พญานาคราชและนาคราชเทวี ที่เป็นองค์ประธานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของคำชะโนด เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้ปกครองดินแดนแห่งนี้
-“บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” หรือ “บ่อคำชะโนด” เชื่อกันว่าเป็นทางเข้า-ออก ระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ของเหล่าพญานาค
-“ต้นมะเดื่อยักษ์” ขนาดใหญ่มีอายุนับร้อยปี เชื่อกันว่าเป็นขุมทรัพย์ของพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมา
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คำชะโนดเราสามารถขอพรได้หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องโชคลาภ เลขเด็ด ที่มีคนมากมายสมหวัง ถูกหวยรวยกันมานักต่อนัก
นอกจากนี้บนเกาะคำชะโนดยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นวงรอบระยะทางประมาณ 250 เมตร ให้เดินชมความน่าทึ่งของผืน “ป่าพรุดิบชื้น” อันร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ โดยมีไฮไลต์ คือ “ต้นชะโนด” ไม้หายาก ซึ่งที่นี่ถือเป็นป่าต้นชะโนดขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเรา
เย็นวันนี้หลังคณะเราใช้เวลาพักใหญ่ในการสักกาะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่คำชะโนดเสร็จสิ้น (หลายคนรอสมหวังหลังวันหวยออก) ก็มุ่งหน้าเข้าสู๋ตัวเมืองอุดรฯ เพื่อไปเช็กอินห้องพักในค่ำคืนสุดท้ายของทริป (คืนที่ 2) ที่ “โรงแรมโมโค” (Hotel MOCO) ที่ออกแบบสไตล์โคโลเนียลผสมอาร์ต เดโค ดูสวยคลาสสิกหรูหราใจกลางย่านการค้าสำคัญของอุดรธานี
เช้าสุดท้าย (วันที่ 3) เราเดินทางไปเที่ยวที่มรดกโลกบ้านเชียง ดูเครื่องปั้นดินเผา ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ กระดูกมนุษย์โบราณ (จำลอง) และการจัดแสดงที่เกี่ยวกับมรดกโลกทางวัฒนธรรมของบ้านเชียง ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง” (ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี)
จากนั้นเราไปดูหลุมขุดค้นของจริงที่ “วัดโพธิ์ศรีใน” ที่อยู่ไม่ไกลกัน ที่นี่สันนิษฐานว่าในอดีตเคยใช้เป็นที่ฝังศพมาตั้งแต่เมื่อราว 5 พันปีที่แล้ว ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิด ภายในหลุมขุดค้นมีภาชนะดินเผาอายุ 1,800-5,000 ปี แบ่งเป็น 3 ยุค รวมถึงโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ ให้ผู้สนใจได้ชมกัน
จุดต่อไปพวกเราไปยัง “วิสาหกิจชุมชนปั้นหม้อเขียนสี” (ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี) เพื่อทำกิจกรรม D.I.Y. ร้อยลูกปัด ปั้นดิน และเขียนสีเครื่องปั้นดินเผาผลงานหนึ่งเดียวในโลกจากฝีมือของตัวเราเองที่ถือเป็นการฝึกสมาธิไปในตัวด้วย
ต่อจากนั้นเรากลับเข้าตัวเมืองอุดรฯ เพื่อไปซิตี้ทัวร์มูไหว้ 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญในบริเวณ “ศาลหลักเมือง” คือ พระพุทธโพธิ์ทอง องค์พระหลักเมือง (เสาหลักเมือง) และท้าวเวสสุวรรณ (ควรไหว้เรียงตามลำดับที่กล่าวมา)
เสร็จแล้วก็ต่อด้วยการไปสักกาะ “องค์ศรีสุขคเณศ” ที่หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ซึ่งเป็นองค์พระพิฆเนศปางนาคปรกหนึ่งเดียวในไทยและอาจจะมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เสริมสิริมงคลปิดท้ายทริป “บึงกาฬ-อุดรธานี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงเสน่ห์แห่งธรรมชาติของอีสานในช่วงกรีนซีซั่นเข้ากับศิลปวัฒนธรรม และศรัทธาความเชื่อในเรื่องพญานาคแล้ว ยังมีโปรโมชั่นและดีลที่น่าสนใจอีกหลากในในแคมเปญดังกล่าวให้ได้เลือกกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับโชคลาภและพรต่าง ๆ ที่เรา ๆ ท่าน ๆขอ ไม่ว่าจะเป็นจากองค์พญานาค หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ทั่วสากลโลก ท่านจะประทานให้ผู้ขอประสบความสำเร็จสมหวังก็ต่อเมื่อ ผู้นั้นคิดดี ประพฤติดี ปฏิบัติดี และลงมือทำแต่เรื่องดี ๆ ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเปี่ยมศรัทธาอย่างไม่มีย่นย่อท้อ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO