PwC ชี้ "โลกร้อน" เสี่ยงกระทบการผลิตชิปทั่วโลก 1 ใน 3 ภายในปี 2035
PwC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ที่น่าจับตามอง โดยชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในซัพพลายเชนของ 'อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์'
รายงานคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ถึงหนึ่งในสาม หรือ "32%" ของโลก ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 จะต้องพึ่งพาอุปทานทองแดงที่มีความเสี่ยงสูงจากการหยุดชะงัก
รายงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ "Protecting People & Prosperity" ของ PwC ระบุว่า "ทองแดง" ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแผงวงจรของเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่
เนื่องจาก "เหมืองทองแดง"ส่วนใหญ่ต้องใช้ "น้ำ"ในปริมาณมหาศาล แต่กลับมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะภัยแล้งรุนแรงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีเพียงชิลี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ ที่เผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้งในระดับรุนแรง แต่น่ากังวลว่าภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้า
เหมืองทองแดงในกลุ่มประเทศผู้ผลิตส่วนใหญ่จากทั้งหมด 17 ประเทศ จะตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงเดียวกัน และหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ลดลง สัดส่วนความเสี่ยงนี้จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 58% ภายในปี 2050
เกล็น เบิร์ม ผู้นำกลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกของ PwC เกาหลีใต้ กล่าวว่า
"เซมิคอนดักเตอร์คือเส้นเลือดที่ซ่อนอยู่ของเทคโนโลยียุคใหม่ เป็นหัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัล และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลดล็อกศักยภาพของ AI และพลังงานหมุนเวียน
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือจัดการความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนเชิงรุก รวมถึงความเสี่ยงทางกายภาพที่เกิดจากโลกร้อน"
รายงานยังได้เสนอแนวทางการปรับตัว สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิตทองแดงที่ต้องลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและการรีไซเคิลน้ำ
ไปจนถึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ต้องมองหานวัตกรรมวัสดุทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเออร์
ด้าน ลินน์ เบเบอร์ รองผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลกของ PwC เสริมว่า "การค้นหาช่องโหว่ที่ซ่อนอยู่ในซัพพลายเชน จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นและปกป้องมูลค่าขององค์กรได้
การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศอย่างชาญฉลาดไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังสร้างความคล่องตัวและจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นำในโลกที่ผันผวนยิ่งขึ้น"
ที่มา : PwC