ปาราชิก4 ข้อต้องอาบัติขาดจากความเป็นพระภิกษุทันทีเมื่อความผิดสำเร็จแม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท
GM Live
อัพเดต 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องราวของผู้ชาย เทรนด์ บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ธุรกิจ รถยนต์ Gadget สุขภาพ อัพเดทก่อนใครวงการพระสงฆ์ไทย
ในยุคที่โลกของพระธรรมวินัยเปลี่ยนไป บทบัญญัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุสงฆ์กลายเป็นโลกของพระธรรมวินัยในอุดมคติ ไร้ซึ่งการปฎิบัติอย่างเคร่งครัด เฉกเช่นกรณีข่าวพระเถระชั้นผู้ใหญ่กับสีกากอล์ฟ เป็นประเด็นที่สร้างความสนใจและถกเถียงในสังคมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่มุมของศีลธรรมและความศรัทธาต่อวงการสงฆ์ไทย ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย ขึ้นขนาดมีการตั้งฉายาให้กับสีกากอล์ฟว่า “นารีพิฆาตพระ”
ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามถึงระบบการปกครองสงฆ์ การดำเนินการของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคม รวมถึงมุมมองที่มีต่อระบบอุปถัมภ์ในวงการสงฆ์และการขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด พร้อมเรียกร้องให้ปฏิรูปพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เพื่อเพิ่มโทษสำหรับพระที่ผิดวินัยและฆราวาสที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งอันที่จริงในบทพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มีกล่าวถึง ปาราชิก 4 ข้อ ต้องอาบัติ (รวมอยู่ในศีล 227ข้อ) ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบทก็ตาม
ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบท ซึ่งก็คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงศีล สมาธิ ปัญญา
ปาราชิกกัณฑ์มี ๔ สิกขาบท คือ
๑. ปาราชิกสิกขาบทที่๑ว่าด้วยการเสพเมถุนธรรม
การเสพเมถุนแม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)
- ปาราชิกสิกขาบทที่๒ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา 5 มาสก (5 มาสกเท่ากับ 1 บาท)
๓. ปาราชิกสิกขาบทที่๓ว่าด้วยการพรากกายมนุษย์
จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณนาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การทำแท้งเด็กในครรภ์
๔. ปาราชิกสิกขาบทที่๔ว่าด้วยการกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม
ไม่รู้เฉพาะ แต่กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวเองว่า เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้เฉพาะ แต่กล่าวอวดความสามารถของตัวเอง) ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด
โดยอาบัติปาราชิกทั้ง 4 นี้เป็นครุกาบัติอาบัติหนักที่เรียกว่า อเตกิจฉาคือแก้ไขไม่ได้เลย ซึ่งโทษของอาบัติปาราชิกนั้นพระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบทก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะหมู่สงฆ์ได้เลย ต้องลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุทันที มิฉะนั้นจะกลายเป็นพวกอลัชชี (แปลว่า ผู้ไม่ละอาย)
นอกจากนั้นแล้วคือไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้เลยตลอดชีวิต แม้จะบวชเข้ามาได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
สำหรับความหมายของคำว่าปาราชิกนั้น แปลว่า ยังผู้ต้องพ่าย หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ในตัวเองที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้ได้
ส่วนอาบัติ แปลว่า การต้อง,การล่วงละเมิดหมายถึงโทษที่เกิดจาการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ และใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่าต้องอาบัติ
อาบัติ มี 7 อย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
ครุกาบัติหมายถึงอาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิกและ อาบัติสังฆาทิเสส
ลหุกาบัติหมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์อาบัติปาฎิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต
ดังนั้นกรณีของข่าวฉาวต่างๆ ของวงการพระภิกษุสงฆ์ไทยไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เสื่อมจากบุคคลผู้เผยแพร่เฉพาะบุคคลที่ละเลยต่อพระธรรมวินัย
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคมจะปฎิรูปวงการสงฆ์ให้บทบัญญัติที่เคร่งครัดของพระธรรมวินัยสู่โลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่โลกในอุดมคติอีกต่อไป
ภาพ : https://pixabay.com
อินเตอร์เน็ต