เปิดมุมคิด 2 บิ๊ก ‘SCBX’ ปรับเกมธุรกิจรับมือวิกฤตภาษี ‘ทรัมป์’
ช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจล้วนใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ รอผลการเจรจาการค้าระหว่างทีมไทยแลนด์กับสหรัฐ เพราะหากไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่าประเทศคู่แข่ง จะทำให้ภาคธุรกิจของไทยเผชิญความยากลำบากมากขึ้น รวมถึงจะกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ส่วนการรับมือจะต้องทำอย่างไร มีมุมมองจากผู้บริหารธุรกิจการเงิน อย่าง บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ทั้ง “ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX และ “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้สะท้อนให้ฟัง
กางแผนธุรกิจรับมือ “วิกฤต”
โดย “ดร.อารักษ์” กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ค่อนข้างท้าทายและเหนื่อย โดยต้องยอมรับว่าไทยอยู่ในวิกฤต ซึ่งไม่ได้ใช่แค่ปัญหาสงครามการค้า หรือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) แต่ยังมีหนี้ครัวเรือนสูง ความขัดแย้งทางภูมิภาค ประกอบกับอุตสาหกรรมที่เคยเป็น Growth Engine ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ และ New S-Curve ยังไม่มา ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยเติบโตในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา และมีความเปราะบาง
สำหรับสิ่งที่กลุ่ม SCBX จะทำและเตรียมในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การดำเนินธุรกิจในระยะสั้น และเตรียมความพร้อมสำหรับระยะยาว โดยในระยะสั้นจะต้องฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ซึ่งต้องดูแลและบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยความเสี่ยงด้านเครดิตและสินเชื่อจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตั้งแต่การพิจารณาสินเชื่อผ่านการนำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาปล่อยกู้
“ธนาคารไม่หุบร่ม แต่จะต้องคัดเลือกมากขึ้น และในระหว่างที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว จะต้องดูแลติดตามลูกค้าให้ชำระหนี้ และไม่ให้ลูกค้าก่อหนี้เกินตัว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้ารู้สถานะการเงินที่แท้จริง และได้รับสินเชื่อได้ดีขึ้น และการสร้างรายได้ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง รายได้ไม่เติบโตมาก จึงต้องดูแลเรื่องของต้นทุน (Cost) ด้านต่าง ๆ ปรับลดลง โดยการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น Physical จะต้องปรับให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อจะช่วยให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น”
ขณะที่ระยะยาวจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และนำนวัตกรรมมาใช้ เนื่องจาก SCBX มีเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในภูมิภาค ดังนั้น จะต้องมีการลงทุนเพื่อจะสนับสนุนไปถึงเป้าหมาย และรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
Gen 2-Gen 3 ประคองตัวได้
“อารักษ์” กล่าวว่า ระยะข้างหน้า ธุรกิจ Gen 2 และ Gen 3 ของ SCBX เช่น บริษัท คาร์ด เอกซ์ (CardX) บริษัท ออโต้ เอกซ์ (AutoX) บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ (AlphaX) บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เป็นต้น จะสามารถดูแลตัวเองได้ ปัจจุบันจะเห็นว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในจุดที่ผลประกอบการสามารถเติบโตต่อไปได้
โจทย์ท้าทาย-ครึ่งปีหลังจีดีพีโตต่ำ
ขณะที่ “กฤษณ์” กล่าวว่า หลังจากนี้ 6-18 เดือน ประเทศไทยจะเจอความท้าทาย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐ หากเจรจาแล้วไม่สามารถได้อัตราเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือเทียบแล้วมีส่วนต่างภาษีเกิน 10% ไทยจะมีความเสี่ยงในเรื่องของการเติบโตการลงทุน และการส่งออก และ 2.บริบทเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวไม่เกิน 1.5%
“คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี จะขยายตัวได้เพียง 1% ซึ่งจะต้องประคองตัวเอง และลูกค้า”
และ 3.ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวไม่ได้มากนัก สัดส่วนหนี้ไม่ได้ปรับลดลง และมีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะ GDP ไทยไม่เติบโต
แบงก์เร่งรุกดิจิทัล-กระชับองค์กร
ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารจะต้องเร่งทำมีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1.เร่งเรื่องดิจิทัล ภายใต้กลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch” ซึ่งในอนาคตจำนวนสาขาอาจจะปรับลดลง จากเดิมที่มีสาขาราว 800 แห่ง อาจจะลดลงเหลือ 400-500 แห่ง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และกระชับองค์กรมากขึ้น เช่น จากเดิมธนาคารจะทำผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่หลังจากนี้จะกระชับและเลือกทำบางอย่าง อาทิ การปล่อยสินเชื่อจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ยังมองว่าขยายตัวได้ หรือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในบางเซ็กเตอร์ที่ไปได้
ดูแลลูกค้าเจอพิษภาษีทรัมป์
และ 3.การบริหารธนาคารอย่างรอบคอบไม่ทำอะไรที่เสี่ยงและใหญ่เกินตัว ช่วยลูกค้าปัจจุบันให้รอดได้มากที่สุด โดยจากผลกระทบเรื่องจาก Tariffs ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีผลกระทบต่อลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มาก อาจจะมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ซึ่งธนาคารดูแลใกล้ชิด และช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ ซึ่งมีหลากหลายมาตรการดูแล ตามแต่ละกลุ่มลูกค้า เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของภาครัฐ เป็นต้น
ขณะที่การดูแลบริหารคุณภาพสินเชื่อ ยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันในปีนี้ โดยธนาคารจะทำอยู่ 2-3 เรื่องหลัก คือ 1.การปล่อยสินเชื่อใหม่จะต้องตั้งการ์ดสูง เพื่อคัดกรองลูกค้าที่มีความเสี่ยงเข้ามาในพอร์ต 2.ดูแลลูกค้าเดิมให้สามารถทำธุรกิจไปได้ หรือการช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การยืดระยะเวลาชำระหนี้ และ 3.การติดตามหนี้ที่รวดเร็วขึ้น รวมถึงการบริหารตัดขายหนี้ให้เร็วขึ้น ดังนั้น เป็นการดูแลทุกมิติของลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ติดขัด โจทย์คือเราต้องเก็บคอ งอเข่า เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาทุกภาคส่วนพยายามทางหาออกและเข้ามาช่วยดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแม้แต่ในมุมของธนาคารพาณิชย์เอง มั่นใจว่าทุกธนาคารน่าจะเตรียมความพร้อมและดูแลลูกค้า ประคองธุรกิจไปให้ได้”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดมุมคิด 2 บิ๊ก ‘SCBX’ ปรับเกมธุรกิจรับมือวิกฤตภาษี ‘ทรัมป์’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net