“ธนกร” ห่วงไม่ทันเดดไลน์ภาษีสหรัฐ แนะเตรียมแผนสำรอง
พรรครวมไทยสร้างชาติ 6 ก.ค.- “ธนกร” ห่วงไทยต่อรองไม่ทันเดดไลน์ภาษีทรัมป์ ชี้กระทบส่งออก-เศรษฐกิจประเทศหนัก ฝาก “พิชัย” แจงคนไทยเข้าใจ หลังบินเจรจาแต่ยังไม่ชัดข้อสรุป แนะเตรียมแผนสำรองลดแรงกระแทกแก่ผู้ประกอบการ-ช่วยแรงงานในประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชี รายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะเจรจาภาษีสหรัฐ หรือทีมไทยแลนด์เข้าสู่กระบวนการเจรจาเกี่ยวกับภาษีอย่างเป็นทางการกับสหรัฐโดยได้พบกับภาครัฐ และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ทั้ง ประธานผู้แทนการค้าสหรัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความน่ากังวลเพราะการเจรจาดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากต้องมีการปรับข้อตกลงและเงื่อนไขใหม่ และเข้าใจว่าจะต้องนำข้อตกลงใหม่บินกลับไปเจรจากับทางการสหรัฐอีกรอบ ตนจึงรู้สึกเป็นห่วงว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะไม่ทันเดทไลน์ หรือเส้นตายที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ประกาศไว้ใน 90 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 ก.ค.นี้ หรือมีเวลาแค่ 4 วันเท่านั้น ซึ่งตนมองว่านายพิชัยและทีมไทยแลนด์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีของสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกอย่างหนักแน่นอน
ทั้งนี้ ถ้าไทยถูกเก็บภาษีที่ 36% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ถูกลดเหลือ 20% สินค้าไทยแพงกว่าตั้ง 16% ซึ่ง ภาคส่งออกของเราจะมีปัญหาแน่นอน ทำให้ความสามารถการแข่งขันในการส่งออกลดลง และสินค้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเวียดนามส่งออกสินค้าโครงสร้างใกล้เคียงกับไทย ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุน สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้น ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และอาจส่งผลให้โรงงานในไทยต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการ ซึ่งจะนำไปสู่การว่างงาน ตกงานและปัญหาค่าครองชีพในประเทศสูงขึ้นตามมา
“ขอฝากไปยังนายพิชัยและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจภายหลังการเจรจาอย่างเป็นทางการรอบแรกไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนกลับมา และหลังจากนี้ต้องระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเพื่อร่วมหาทางออกให้กับประเทศที่ดีที่สุด โดยรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการสำรองหรือ แผนฉุกเฉินออกมารองรับสถานการณ์ให้รอบด้านทุกมิติ เพื่อช่วยเหลือพยุงผู้ส่งออก ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ เช่น การหาตลาดใหม่ที่ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ และมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน และออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานภายในประเทศไว้ล่วงหน้าด้วย” นายธนกร กล่าว.312 -สำนักข่าวไทย