นักวิจัยชี้ “อากาศร้อน” คือ “ฆาตกรเงียบ” ในยุโรป แค่ 10 วัน เสียชีวิตพุ่ง 2,300 ราย
การศึกษาล่าสุดเผยว่า คลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในยุโรป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติถึง 1,500 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มนักวิจัยจาก World Weather Attribution (WWA) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการที่ศึกษาการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า มนุษย์เป็นต้นเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และทำให้อุณหภูมิของคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นถึง 4°C ในหลายเมืองทั่วยุโรป
นักวิจัยจาก Imperial College London และ London School of Hygiene & Tropical Medicine ได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม ครอบคลุม 12 เมืองในอิตาลี สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร กรีซ โครเอเชีย และฮังการี
ในช่วงเวลา 10 วันดังกล่าว มีการบันทึกผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทั้งหมด 2,300 ราย โดยในจำนวนนี้ 1,500 ราย หรือคิดเป็น 65% เป็นการเสียชีวิตที่ “จะไม่เกิดขึ้น” หากไม่มีภาวะโลกร้อนเข้ามาเสริมความรุนแรงของคลื่นความร้อน
ความร้อนเป็นภัยที่อันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากรบกวนกระบวนการทางสรีรวิทยาที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ความเครียดจากความร้อนส่งผลต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน การระบายเหงื่อก็ลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ทำให้ร่างกายไม่สามารถลดความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลที่ตามมา ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ภาวะขาดน้ำ ลมแดด ความดันโลหิตสูง และนอนไม่หลับ ซึ่งหลายอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลทันเวลา
แม้ความร้อนจะส่งผลต่อทุกคน แต่ปัจจัยอย่างอายุ สุขภาพ สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจสามารถเพิ่มความเปราะบางได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว
งานวิจัยของ WWA ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็น 88% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 500,000 รายต่อปี ทำให้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คร่าชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตจากความร้อนมักไม่ได้รับการบันทึกอย่างถูกต้อง เนื่องจากระบบการรายงานของหลายประเทศยังไม่ครอบคลุมหรือไม่สามารถระบุได้ชัดเจน
ด้านดร.มัลคอล์ม มิสตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า
“แม้จะมีรายงานการเสียชีวิตบางส่วนในสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี แต่ในความเป็นจริงน่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกหลายพันรายที่ไม่ได้รับการบันทึกว่าเกี่ยวข้องกับความร้อนโดยตรง” เขาเสริมว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเสียชีวิตที่บ้านหรือในโรงพยาบาล โดยที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานกับภาวะแทรกซ้อนจากโรคเดิมเมื่อเผชิญกับความร้อนจัด
คลื่นความร้อนเริ่มต้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน และต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 40°C ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสเปนและโปรตุเกสที่มีอุณหภูมิพุ่งแตะ 46°C เหตุการณ์นี้นำไปสู่การควบคุมเวลาทำงานกลางแจ้งในอิตาลี การปิดโรงเรียนกว่า 1,300 แห่ง และแม้แต่การหยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางแห่งในฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน ยังเกิดไฟป่าหลายจุดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน
ด้านหน่วยงาน Copernicus Climate Change Service เผยว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 5 ของยุโรป โดยเฉลี่ยอุณหภูมิอยู่ที่ 20.49°C ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1991–2020 ถึง 2.81°C นอกจากนี้ ความร้อนผิดปกติยังเกิดขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในวันที่ 30 มิถุนายน ได้สูงถึง 27°C หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 3.7°C ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของภูมิภาค
คลื่นความร้อนครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันอีกครั้งว่า ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในยุโรปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง