กสทช. จี้ค่ายมือถือ ออก "แพ็กเกจธงฟ้า" ลดค่าใช้จ่าย คุ้มครองผู้ใช้บริการ
#ทันหุ้น - สำนักงาน กสทช. ดันแก้แนวทางกำหนดค่าโทรศัพท์มือถือ ให้ค่ายมือถือออก “แพ็กเกจธงฟ้า” ให้ถูกลงจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินเดือนละ 240 บาท คุ้มครองผู้ใช้งานโทรศัพท์ได้ใช้บริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ
วันนี้ (16 ก.ค. 2568) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2568 เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. เสร็จสิ้นในเวลา 13.40 น.
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้มีระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 86 วาระ ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 25 วาระ ได้แก่ วาระที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบกิจการ การกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาต ข้อร้องเรียน รวมทั้งการดำเนินคดีต่างๆ ที่มีผู้ฟ้องร้องตามกระบวนการ ทั้งนี้ มีวาระที่น่าสนใจ คือ วาระที่ 4.44 เรื่อง แนวทางการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ สำหรับการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก และจัดทำร่างประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ โดยเสนอ กสทช. เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด การแข่งขัน และต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นการดูแลผู้บริโภคให้มีทางเลือกในการใช้งาน
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สาระสำคัญของการพิจารณาวันนี้ เป็นการหาแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 ให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยได้มีการเสนอให้ปรับปรุงอัตราค่าบริการสำหรับรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้า ที่เดิมกำหนดให้ไม่เกิน 240 บาทต่อเดือน ให้มีราคาถูกลงโดยกำหนดสิทธิการใช้งานให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งรวมเฉพาะบริการเสียงและอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เท่านั้น ไม่รวมบริการ SMS และ MMS
สำหรับการกำหนดค่าบริการใหม่ที่ปรับลดลงนั้น มาจากการนำรายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับจากผู้ใช้บริการรายเดือนและเติมเงินมาคำนวณ กล่าวคือ ผู้ใช้บริการจะได้ค่าใช้บริการที่ถูกลงสำหรับบริการพื้นฐานที่จำเป็นคือ การโทร และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ ซึ่งเข้ามาทดแทนพฤติกรรมการใช้งาน SMS และ MMS ได้
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทางให้ผู้ให้บริการมีรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้าอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่ บริการแบบจ่ายตามการใช้งาน (Pay Per Use) และบริการแบบเหมาจ่าย (Flat Rate) ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง ว่าการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ และการนำเสนอแนวทางนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้การให้บริการของโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ และเป็นเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ ดำเนินการโดยได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของผู้ให้บริการ และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความโปร่งใสในการกำหนดราคาและเสนอขายแพ็กเกจสำหรับผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ภายใต้การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของตลาดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การทบทวนในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานตามแพ็กเกจ และอัตราค่าบริการส่วนเกินที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเมื่อใช้เกินสิทธิจากแพ็กเกจ นอกเหนือจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ทุกรายต้องมีแพ็กเกจที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ เหมือนสินค้าธงฟ้าที่เป็นทางเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งดำเนินการยกร่างประกาศ กสทช. ตามแนวทางที่ กสทช. เห็นชอบเพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป” นายไตรรัตน์ กล่าว
และวาระที่ 5.19 เรื่อง รายงานการตรวจคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น โดย กสทช. มีมติรับทราบจำนวนผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น ทั้งสิ้น 2,286 นิติบุคคล โดยในจำนวนนี้ กสทช. มีมติพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 2,237 นิติบุคคล เป็นผู้เข้าร่วมการประมูล โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลให้ทราบเป็นการทั่วไปต่อไป และพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ไม่มีคุณสมบัติ จำนวน 44 นิติบุคคล ไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล ทั้งนี้ มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ขอยกเลิกการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ด้วยตนเอง จำนวน 5 นิติบุคคล
นอกจากนี้ กสทช. ได้มีมติเห็นชอบให้การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงตามบทเฉพาะกาล ข้อ 39 ของประกาศใช้คลื่นฯ สิ้นสุดลงพร้อมกันในวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และกำหนดให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบบเอฟเอ็ม เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป