ทะเลป่วยเพราะแมงกะพรุนเยอะ? งั้นมาช่วยกันกินแมงกะพรุนกันเถอะ
แมงกะพรุน สปีชีส์ดึกดำบรรพ์ที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน
แมงกะพรุนสปีชีส์ดึกดำบรรพ์ที่มีอายุกว่า 500 ล้านปี เก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ และยังมีชีวิตว่ายวนในทะเลจนถึงทุกวันนี้ ด้วยรูปร่างคล้ายวุ้น โปร่งใส มีหนวดห้อยระย้า แมงกะพรุนกลายเป็นสัญลักษณ์ลึกลับของท้องทะเลที่ทั้งน่าหลงใหลและน่าหวั่นใจในเวลาเดียวกัน และตอนนี้…พวกมันกำลังอยู่ในจานอาหารของเรา
แมงกะพรุน จากอาหารโบราณในจีน สู่เมนูสุขภาพในโลกยุคใหม่
แมงกะพรุนอาจดูเป็นของแปลกสำหรับใครหลายคน แต่ในวัฒนธรรมจีน แมงกะพรุนถือเป็นอาหารที่บริโภคกันมาอย่างยาวนานนับพันปี โดยมักนำมาทำเป็นเมนูเย็นอย่างสลัดแมงกะพรุน ที่นิยมทั้งในหมู่ชาวบ้านและภัตตาคารหรู เพราะเชื่อกันว่าให้คุณค่าทางยา เสริมความเย็น ลดร้อนใน และช่วยบำรุงสุขภาพ
การกินแมงกะพรุนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจีนเท่านั้น แต่แพร่หลายไปในญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตะวันออกหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ “อาหารทางเลือก” ที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แมงกะพรุนไทย อาหารพื้นถิ่นที่คนเริ่มหันกลับมามองใหม่
สำหรับประเทศไทย เรามีแมงกะพรุนที่สามารถบริโภคได้อย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ แมงกะพรุนหอม, แมงกะพรุนหนัง, และแมงกะพรุนลอดช่อง
แมงกะพรุนเหล่านี้ถูกจับจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน แล้วนำไปแปรรูปตากแห้ง ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น
ในระยะหลัง คนไทยเริ่มกลับมาบริโภคแมงกะพรุนกันมากขึ้น เพราะถูกยกให้เป็นอาหารสุขภาพ ด้วยจุดเด่นคือ ไขมันต่ำ คอเลสเตอรอลต่ำ แคลอรี่ต่ำ และโปรตีนสูง
แมงกะพรุนไม่มีรสชาติ แต่มีสัมผัสที่ “กรุบกรอบ” คล้ายกระดูกอ่อน จึงถูกนำไปใช้แทนเนื้อสัตว์ในหลายเมนู ทั้งสลัด เย็นตาโฟ ไปจนถึงยำแมงกะพรุน
คุณสมบัติที่น่าทึ่งของแมงกะพรุน (นอกจากความอร่อย)
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีสัดส่วน “น้ำ” มากถึง 95% และสารอาหารเพียง 5% แม้จะไม่ใช่แหล่งโปรตีนเข้มข้นเท่าปลา แต่กลับให้สารอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น คอลลาเจนตามธรรมชาติ และกรดอะมิโนบางชนิด
ความน่าทึ่งไม่จบแค่เรื่องโภชนาการ แมงกะพรุนยังเป็นสัตว์ที่มีความยืดหยุ่นทางชีวภาพสูง สามารถอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนน้อยได้ ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ และบางสายพันธุ์ยังสามารถ “ย้อนวัย” และสร้างร่างใหม่ได้อีกครั้ง เมื่อได้รับบาดเจ็บ
รู้จัก แมงกะพรุนหัวกระสุน
แมงกะพรุนหัวกระสุน (Cannonball Jellyfish) กลายเป็นดาวเด่นในตลาดอาหารทะเล แม้จะไม่ได้พบในไทย แต่มีการส่งออกจากสหรัฐฯ และแถบทะเลแคริบเบียนเข้าสู่เอเชีย โดยที่เรากินกันบ่อย ๆ นั้น จริง ๆ แล้วคือ "ลูกแมงกะพรุน" ยังไม่โตเต็มวัย เพราะตัวโตจริง ๆ ใหญ่เท่าลูกวอลเลย์บอลเลยทีเดียว
แม้จะดูไม่มีพิษร้ายแรง แต่เมื่อถูกรบกวน พวกมันสามารถปล่อยเมือกที่มีสารพิษออกมาได้ และหากบริโภคในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อหัวใจได้ในบางราย โดยเฉพาะในคนที่แพ้แบบไม่รู้ตัว
บทบาทของแมงกะพรุนในระบบนิเวศ (ที่ไม่ใช่แค่อาหาร)
แมงกะพรุนเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่ามะเฟือง เต่าหนังแคริบเบียน และช่วยควบคุมประชากรแพลงก์ตอนในทะเล นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการกักเก็บคาร์บอน เมื่อตาย พวกมันจะพาเอาคาร์บอนจมลงก้นทะเล ช่วยลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศอย่างเงียบ ๆ ด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน การที่แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วก็เป็นสัญญาณว่า ทะเลกำลังป่วย จากภาวะโลกร้อน มลพิษ การพัฒนาชายฝั่ง และการทำประมงเกินขนาดที่ทำให้สัตว์นักล่าแมงกะพรุนลดลงอย่างน่ากังวล
ที่มาข้อมูล
Institute for the Oceans and Fisheries
แมงกะพรุนที่มากเกินไป = ระบบนิเวศที่เอียง
ในปี 2550 แมงกะพรุนจำนวนนับล้านตัวในไอซ์แลนด์เข้ารุมล้อมกรงเลี้ยงปลาแซลมอน จนปลากว่าแสนตัวตาย สูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล หรือในญี่ปุ่นเอง ชาวประมงต้องเผชิญกับการระบาดของแมงกะพรุนโนมูระทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 บางปีหนักถึงขั้นที่ออกทะเลหาปลาไม่ได้เลย
คำถามคือ…เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? นักวิทยาศาสตร์แนะ ก็กินมันซะเลยสิ!
ฟังดูตลก แต่เป็นเรื่องจริง หลายประเทศกำลังผลักดันให้ “การบริโภคแมงกะพรุน” เป็นหนึ่งในทางออกของปัญหานี้ โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารทั่วโลก
ข้อมูลจาก FAO ระบุว่า โลกมีความต้องการอาหารทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ปลาหลายชนิดเริ่มหาได้ยากขึ้น การหันมาเพิ่มแมงกะพรุนในเมนูจึงอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อแหล่งโปรตีนในธรรมชาติ
แต่แมงกะพรุนก็มีข้อจำกัด…
แม้จะกินได้ แต่ไม่สามารถแทนปลาหรือโปรตีนหลักอื่น ๆ ได้เต็มที่ เพราะมันประกอบด้วยน้ำถึง 95% มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นสารอาหาร และให้โปรตีนไม่สูงเมื่อเทียบกับมวลรวม
ปล่อยไว้ก็ล้น กินมากไปก็เสีย เราต้อง “สมดุล” กับแมงกะพรุน
ตัวอย่างจากเม็กซิโกในปี 2564 ชี้ว่า การจับแมงกะพรุนหัวกระสุนจำนวนมากเกินไปในช่วงหนึ่ง ทำให้ประชากรมันลดฮวบลง จนกระทบต่อสมดุลของสายใยอาหารในทะเล
แมงกะพรุน คือสัตว์ที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมแย่ ๆ ได้ดีที่สุด มันทนมลพิษ ทนออกซิเจนน้อย และอยู่ได้นานราวกับเป็น “สิ่งมีชีวิตอมตะ” เพราะสามารถย้อนวัยและสร้างตัวเองใหม่ได้ ซึ่งนี่เองก็คือเคล็ดลับที่ทำให้แมงกะพรุนอยู่รอดมาได้ถึง 500 ล้านปี
บางที…การกินแมงกะพรุนอาจไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร แต่คือการตั้งคำถามใหม่กับวิธีอยู่ร่วมกับโลกที่เราทำให้ป่วยเอง ก็เป็นไปได้ ควรกินหรือไม่กินดี?