มีมานานแล้ว! ว่าด้วยกฎเจ้าของทีมร่วมของ ยูฟ่า
ต้นเหตุมาจากการที่ จอห์น เท็กซ์เตอร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นของพาเลซ มีหุ้นอยู่กับ โอลิมปิก ลียง ด้วย ซึ่ง "โอแอล" ก็ได้สิทธิ์เล่น ยูโรปา ลีก ในซีซั่นใหม่เช่นกัน และตามกฎของ ยูฟ่า ทีมที่มี "เจ้าของซ้ำกัน" จะไม่สามารถลงเล่นรายการเดียวกันได้ โดยสิทธิ์การได้เล่นถ้วยยุโรปจะตกอยู่กับทีมที่มีอันดับในลีกดีกว่า โดยในซีซั่น 2024-25 ลียง ได้อันดับ 6 ใน ลีก เอิง ส่วน พาเลซ จบด้วยการเป็นอันดับ 12 ใน พรีเมียร์ลีก
หลายคนอาจจะคิดว่ากฎเรื่องเจ้าของทีมร่วมกันของ ยูฟ่า เพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากการที่พักหลังโมเดลที่นักธุรกิจกลุ่มหนึ่งจะมีทีมฟุตบอลอยู่ในครอบครองหลายทีมมันแพร่หลายมากขึ้น แต่ที่จริงจุดเริ่มต้นของกฎนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่หลายปีก่อน
ย้อนกลับไปในฤดูกาล 1997-98วิเชนซ่า ทีมจาก อิตาลี, สลาเวีย ปราก สโมสรจากสาธารณรัฐเช็ก และ เออีเค เอเธนส์ ต่างก็ทะลุถึงรอบก่อนรองชนะเลิศของศึก คัพ วินเนอร์ส คัพ (รายการที่เอาแชมป์ฟุตบอลถ้วยของแต่ละชาติมาเจอกัน ซึ่งตอนนี้รายการที่ว่าโดนยกเลิกไปแล้ว) โดยทางวิเชนซ่า ต้องเจอกับ โรด้า เจซี, สลาเวีย ปราก ชนกับ เฟาเอฟเบ สตุ๊ตการ์ท และเออีเค เอเธนส์ เจอกับ โลโคโมทีฟ มอสโก
ประเด็นก็คือทั้ง วิเชนซ่า, สลาเวีย ปราก และ เออีเค เอเธนส์ ต่างก็มี ENIC บริษัทสัญชาติอังกฤษเป็นผู้ถือหุ้นของทีม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เจอกันเอง แต่มันก็ทำให้เริ่มเกิดความกังขาว่าจะมีการฮั้วกันหรือไม่ถ้าทีมเหล่านี้มาเจอกันเองในรอบต่อไป
ท้ายที่สุดแล้ว สลาเวีย ปราก กับ เออีเค เอเธนส์ ก็ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายของ คัพ วินเนอร์ส คัพ ครั้งนั้น แต่คนใหญ่คนโตของ ยูฟ่า ก็เริ่มหาวิธีรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งมันก็เกิดประเด็นขึ้นจริงๆ เพราะตอนจบซีซั่น 1997-98 สลาเวีย ปราก ได้อันดับ 2 ในลีกของสาธารณรัฐเช็ก ขณะที่ เออีเค เอเธนส์ ได้อันดับ 3 ในลีกกรีซ จนทำให้ตามกฎแล้วทั้ง 2 ทีมต่างก็ได้โควตาเล่น ยูฟ่า คัพ ในฤดูกาล 1998-99
ตอนนั้น ยูฟ่า ก็ตัดสินแบบเหมือนหนนี้ นั่นคือในเมื่อ สลาเวีย ปราก ได้อันดับในลีกที่สูงกว่า พวกเขาก็คือทีมที่จะได้สิทธิ์เล่น ยูฟ่า คัพ ขณะที่ เออีเค เอเธนส์ ต้องอดเล่นไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากจนมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (ซีเอเอส)
ท้ายที่สุดแล้วศาลก็ตัดสินให้ทางสโมสรเป็นผู้ชนะคดี โดยมองว่า ยูฟ่า บังคับใช้กฎเร็วไปจนเหมือนเป็นการละเมิดหน้าที่ขององค์กรในการที่ต้องมีกระบวนการที่ยุติธรรม
คำตัดสินในครั้งนั้นทำให้การเริ่มใช้กฎรับมือกับการมีเจ้าของร่วมกันของยูฟ่า ถูกดีเลย์ออกไป และพอในปี 2001 กฎดังกล่าวก็ส่งผลต่อโลกฟุตบอลแบบเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ กานาล ปลุส สื่อชื่อดังจำเป็นต้องยอมขายหุ้นที่มีอยู่กับเซอร์เว็ตต์ ทีมในสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเดิมที ปารีส แซงต์-แชร์กแมง กับ เซอร์เว็ตต์ ได้สิทธิ์เล่น ยูฟ่า คัพ ในซีซั่นเดียวกัน
หลังจากนั้นเป็นต้นมากฎการห้ามมีเจ้าของร่วมกันก็เป็นประเด็นในวงการฟุตบอลอีกหลายครั้ง อย่างเช่นปี 2017 ในกรณีของแอร์เบ ไลป์ซิก กับ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก, ปี 2023 ระหว่างเอซี มิลาน กับตูลูส, ปี 2024 กรณีของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ นีซ รวมถึงประเด็นระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ จีโรน่า
กรณีของทีมอื่นในอดีตนั้นมันแก้ปัญหาได้ด้วยการที่นักลงทุนซึ่งมีหุ้นกับ 2 ทีม สามารถทำการขายหุ้นที่ถืออยู่กับทีมใดทีมหนึ่งให้กลุ่มทุนอื่นได้ทันเวลา แต่กรณีของ พาเลซ ทำไม่ทัน และอนาคตก็อาจจะมีเคสแบบพวกเขาอีกก็ได้