ตลท. แนะจับตาภาษีสหรัฐฯ ย้ำใช้วิจารณญาณเสพข่าว ชี้ไม่ควรตื่นตระหนกเร่งขายช่วงผันผวน เผยมาตรการชั่วคราวคำนึงผู้ลงทุนเป็นหลัก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แนะจับตาสถานการณ์ภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน พร้อมย้ำให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกและการเร่งขายในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน เผยการออกมาตรการชั่วคราวคำนึงถึงผู้ลงทุนเป็นหลัก ฟากโบรกฯ แนะยึดกลยุทธ์ “Stay Invest” สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) มองว่าเรื่องภาษีการค้าสหรัฐฯ มีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยหากอัตราภาษีออกมาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลให้บาง Sector อาจต้องเผชิญความยากลำบาก แต่หากอัตราภาษีออกมาต่ำกว่าก็ถือเป็นข่าวดี ดังนั้น แนะนำว่านักลงทุนควรติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง และควรใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ข้อมูลอยู่เสมอผ่านข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของการออกมาตรการต่าง ๆ นั้น โดยปกติแล้ว ตลท. มีกลไกที่คอยรองรับความผันผวนของตลาดฯ หรือข่าวที่มี Impact กับตลาดค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมก่อนการประกาศใช้
ขณะที่ นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินการเมื่อเกิด Market Disruption ระบุถึงวิธีหรือหลักคิดในการกำหนดว่า ตลท. จะใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อรองรับความผันผวนของตลาดหรือไม่ คือการคำนึงถึงข้อมูลที่ผู้ลงทุนจะได้รับเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อลดความตื่นตระหนก โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการซื้อขาย และยกเลิกมาตรการเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
“สิ่งสำคัญคือการดูที่ผู้ลงทุนเป็นตัวตั้ง โดยมองว่าผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ และผู้ลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกในการเร่งขาย” นายรองรักษ์ กล่าว
ด้านดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปสถิติสำคัญตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมิถุนายน 2568 โดยระบุว่า ตลาดหุ้นโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางในระยะสั้น จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอยู่ในช่วง 70-80ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ หลังประกาศข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับเวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่บรรลุข้อตกลงในการลดกำแพงภาษี
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยภายนอกในเดือนมิถุนายนแล้ว ผู้ลงทุนยังกังวลกับผลกระทบจากข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศที่กำลังเข้าสู่ความไม่แน่นอนสูงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติคำร้องสว. ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และมีมติสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือการประกาศสงคราม ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วมักเผชิญความผันผวนเพียงระยะสั้น ก่อนจะฟื้นตัวและกลับมาให้ผลตอบแทนในทิศทางบวกได้ภายในเวลาไม่นาน ตลาดหุ้นไทยเองก็แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในลักษณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป
นอกจากนี้ ผลการประชุมของ กนง. โดยคณะกรรมการฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ขณะที่หลังจากวันสุดท้ายที่มีการเปิดขายกองทุนรวม Thai ESGX มี Fund Flow ของผู้ลงทุนเข้ามาในกรอบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่พยุงหุ้นไทยในช่วงความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.68 SET Index ปิดที่ 1,089.56จุด ปรับลดลง 5.2%จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 มิ.ย.68 ปรับลดลง 22.2%
สำหรับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663ล้านบาท หรือลดลง 10.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET อยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ เดือนมิ.ย.68 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai จำนวน 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท นูทริชั่น โปรเฟส จำกัด (มหาชน) หรือ NUT